ปาฐกถา “แม่น้ำโขง ลมหายใจแห่งสรรพชีวิต”ถูกกล่าวโดย ศ. ดร. ทวนทอง จุฑาเกตุ จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หนึ่งในองค์ปาฐกในงาน “ทิศทางการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำโขง จากงานวิจัยเชิงปฏิบัติการลุ่มน้ำโขง” เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นับเป็นปาฐกถาอันทรงพลังที่ฉายให้เห็นภาพที่ชัดเจนในเรื่องของการก่อกำเนิดชีวิตและความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตที่ถูกกำหนดและจัดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างกันของสรรพสิ่งโดยแม่ที่ชื่อว่าแม่น้ำโขง โดยเฉพาะพืชพันธุ์ สัตว์ และผู้คน พร้อมไล่เเรียงให้เห็นปัญหาอย่างวิกฤตแม่น้ำโขงที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

เมื่อเทียบกับแม่น้ำทั่วโลก จะเห็นว่าแม่น้ำโขงเป็นหนึ่งในแม่น้ำที่ไหลจากบนลงล่าง ซึ่งผ่านเขตสภาพอากาศหลายเขต จึงมีความจำเพาะในความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่ค่อนข้างสูงกว่าแม่น้ำตามขวางที่ไหลจากซ้ายไปขวา ยกเว้นแม่น้ำแอมะซอน เพราะจริง ๆ แล้ว แม่น้ำหลักของโลกที่ไหลจากบนลงล่างมักมีความอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลาย โดยนักวิทยาศาสตร์มีข้อสรุปว่าทำไมแม่น้ำแอมะซอนที่ไหลจากซ้ายไปขวา ซึ่งสามารถตามอ่านจากงานวิจัยได้ แต่โดยทั่วไปแม่น้ำที่ไหลจากบนลงล่างจะมีความอุดมสมบูรณ์กว่า แล้วทำไมถึงสมบูรณ์

โดยทั่วไป แม่น้ำโขงมีความยาวเป็นอันดับ 10 ของโลก และมีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์สูง ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกว้าง ๆ เราจะแบ่งเป็น 5-6 โซน โซนแรกจากทิเบตลงมาถึงเชียงแสนในบริเวณที่เป็นภูเขาสูงและเป็นหุบเขา จากเชียงแสนลงมาถึงเวียงจันทน์ก็เป็นลักษณะหุบเขา เป็นพื้นที่สูง หลังจากนั้นจากเวียงจันทน์ลงมาถึงปากเซหรือในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นพื้นที่ค่อนข้างราบ แม่น้ำขยาย มีความอุดมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตเยอะ และจากปากเซไปจนถึงจังหวัดกระเจะ ทางตอนเหนือของประเทศกัมพูชา จะเป็นพื้นที่ที่มีเกาะแก่ง มีน้ำตก มีความเฉพาะตัว และบริเวณที่เป็นจุดสำคัญคือที่ราบลุ่มทะเลสาบในประเทศกัมพูชา จัดว่าเป็นแหล่งประมงที่สำคัญที่สุดของโลก และสุดท้ายลงไปถึงบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนาม

จากความหลากหลายนี้เอง จึงทำให้แม่น้ำโขงมีความหลากหลายของสรรพชีวิตสูง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลจากบนลงล่าง ถ้าเปรียบเทียบแม่น้ำโขงเป็นแม่ ลูกของแม่โขงมีใครบ้าง ลูกของแม่โขงก็จะมีพืชพรรณต่าง ๆ มากกว่า 20,000 ชนิด สัตว์บกต่าง ๆ มากกว่า 450 ชนิด มีนกประจำถิ่นมากกว่า 10,000 ชนิด สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากกว่า 800 ชนิด และก็มีปลามากกว่า 850 ชนิด และมีพวกกุ้ง หอย ปู กว่าอีกหลายร้อยชนิด และลูกแม่โขงที่ค่อนข้างดื้อก็คือคน ซึ่งมีชนิดเดียว แต่มีจำนวนมากถึง 60 กว่าล้านคน และค่อนข้างเป็นลูกที่ขอประโยชน์จากแม่มากที่สุด แต่ลูกที่ลมหายใจแผ่วที่สุดคงเป็นพวกลูกที่อยู่ในน้ำ คือ กลุ่มปลา และสัตว์น้ำอื่น

ก่อนที่จะไปดูว่าทำไมพวกมันถึงหายใจแผ่ว มาดูเรื่องปลาในส่วนของความสำคัญกับวิถีชีวิตของประชาชนในลุ่มน้ำโขง อย่างที่เรียนไปแล้วว่าปลาในลุ่มน้ำโขงมีมาก ซึ่งมากเป็นอันดับสองของโลก ตัวเลขที่มีการประเมินคือมีเกือบเก้าร้อยชนิด และคิดว่าถ้าหากนับปลาที่ยังไม่ถูกค้นพบอีกก็น่าจะถึงพันชนิด ซึ่งเป็นรองเพียงแม่น้ำแอมะซอน โดยความเป็นรองแม่น้ำแอมะซอนนี้เป็นความเป็นรองในแง่ชนิด ซึ่งความหลากหลายของปลาในแม่น้ำแอมะซอนนั้นแม้จะมีชนิดที่ต่าง ๆ กัน แต่หน้าตาคล้ายกัน แต่สำหรับแม่น้ำโขงปลามีชนิดที่หลากหลายและน้าตาต่างกัน เพราะฉะนั้นในแง่ของกลุ่มหรือครอบครัว ปลาแม่น้ำโขงมีความหลกาหลายมากที่สุดในโลก นั่นแสดงให้เห็นว่าการเป็นอยู่อาศัยของปลาเองก็มีความแตกต่างกันด้วย

มีตั้งแต่ชนิดที่ถูกเรียกว่าปลาแคระ ตัวเต็มวัยมีขนาดเพียง 2 ซม. ไปจนถึงกลุ่มปลายักษ์ที่มีขนาดตัวเต็มวัย 14 – 15 เมตร แบ่งเป็นกลุ่มอะไรได้บ้าง อาจจะมีพวกที่ปรับตัวง่าย พวกที่ชอบน้ำไหลแรง พวกปลาทะเลที่สามารถว่ายไปยังแม่น้ำสูง ๆ ได้ สามารถปรับสภาพความชอบของตัวเองได้ บางชนิดอาจเข้ามาลึกถึงในบริเวณเวียงจันทน์ เช่น ปลาซวยหางเหรียญ และก็มีพวกปลาน้ำกร่อยที่จะสามารถพบได้เฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และปลากลุ่มใหญ่ที่มีความสำคัญในแง่เศรษฐกิจ สังคม และการประมง คือ ปลาอพยพ โดยมากกวา 100 ชนิด เป็นปลาอพยพระยะสั้น อีกกว่า 20 ชนิด เป็นปลาอพยพระยะยาว และมีกลุ่มปลาเทา ที่อพยพเฉพาะระหว่างแม่น้ำโขงสายหลักและที่ราบลุ่มน้ำท่วมใกล้ ๆ เพื่อการดำรงชีวิต สืบพันธุ์และวางไข่ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่เช่นกัน มี 100 กว่าชนิด และก็มีพวกปลาและปลาต่างถิ่น

แต่ปลากว่า 800 เกือบ 900 ชนิด ในแม่น้ำโขงนั้นมีความหลากหลาย มีความเฉพาะตัวของเขาเอง และจากความหลากหลาย ความเฉพาะตัว และปริมาณที่มากเป็นผลทำให้เกิดความผูกพันระหว่างลูกที่ดื้อที่สุดคือคนกับสิ่งมีชีวิตในน้ำ

หลักฐานง่าย ๆ หากใครเคยไปเที่ยวอุบลราชธานีแล้วไปผาแต้มก็จะเห็นภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์เป็นรูปปลากับเครื่องมือประมง ใครมีโอกาสไปเที่ยวนครวัดก็จะเห็นรูปแกะสลักหรือรูปปั้นที่มีปลากับชาวบ้านหรือชาวประมง นั่นแสดงให้เห็นว่าเรามีการใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำ ใช้ประโยชน์จากปลามาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงปัจจุบัน

แม่น้ำโขงจัดเป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดอันดับหนึ่งในโลก 25% ของปลาน้ำจืดจากธรรมชาติในโลกที่ถูกจับมาใช้ประโยชน์คือปลาจากแม่น้ำโขง โดย 25% นี้เป็นปริมาณปลาเท่าไหร่

ตัวเลขที่ค่อนข้างอนุรักษ์จากองค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติคิดเป็นประมาณ 8 แสนตันต่อปี แต่จริง ๆ แล้วจากการคำนวณอย่างรอบคอบของนักวิจัยหลาย ๆ กลุ่ม ประมาณการณ์กันว่ามี        มากกว่าหนึ่งล้านตันต่อปีของปลาในแม่น้ำโขงที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ ทั้งจากแม่น้ำสายหลัก น้ำนิ่งและแหล่งน้ำนิ่งชั่วคราว ลำน้ำสาขา และที่ราบลุ่มน้ำท่วม

แล้วหนึ่งล้านตันต่อปีมีประโยชน์อะไร แน่นอนว่าอาจจะมีเรื่องการสร้างรายได้ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือความมั่นคงทางอาหารและสุขภาวะ การที่ประชาชนในลุ่มน้ำโขงจับปลามาก ก็สะท้อนให้เห็นว่ามีการบริโภคปลามากด้วยเช่นกัน จะเห็นได้ว่าในขณะที่ตัวเลขเฉลี่ยของโลก คนบริโภคปลาเป็นโปรตีนชนิดหลักน้อยกว่า 10 กิโลกรัมต่อคนต่อปี แต่ไม่ใช่สำหรับคนในลุ่มน้ำโขง คนในลุ่มน้ำโขงบริโภคโปรตีนจากปลาเป็นอาหารหลัก โดยเฉลี่ยแล้วมากกว่า 20 กิโลกรัมต่อคนต่อปี และตัวเลขนี้สูงมากในประเทศกัมพูชา รองลงมาคือประเทศลาว ตามด้วยเวียดนาม และไทย โดยไทยอาจจะมีทางเลือกหลากหลายกว่า

แต่ปลากับสัตว์น้ำอื่น ๆ ในแม่น้ำโขงให้ประโยชน์ต่อคนเฉพาะแค่โปรตีนเท่านั้นหรือ คำตอบคือไม่ใช่ ถ้าเราสังเกตจะเห็นว่าคนในแม่น้ำโขงส่วนใหญ่ไม่มีโรคขาดสารอาหาร ไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาวะที่มีความแคะแกร็น หรือเจริญเติบโตไม่สมบูรณ์เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ นั่นเป็นเพราะคนในแม่น้ำโขงบริโภคปลาทั้งตัวซึ่งเป็นแหล่งของวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย

เพราะฉะนั้นงานวิจัยขององค์การอาหารและการเกษตรของสหประชาชาติได้ชีให้เห็นชัดว่าอัตราการเป็นโรคขาดสารอาหารของเด็ก วัยรุ่น และประชาชนในลุ่มน้ำโขงต่ำกว่าพื้นที่อื่น ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปลาที่นอกจากเป็นแหล่งโปรตีนแล้วก็ยังเป็นแหล่งของแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตด้วย

ฉะนั้นลมหายใจที่แม่น้ำโขงได้ให้เราผ่านปลาหรือสัตว์น้ำอื่นนั้น นับว่าเป็นหน้าที่โดยตรงที่ให้ทั้งความมั่นคงทางอาหารและเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ประชาชนสามารถสร้างอาชีพโดยการประกอบอาชีพเป็นชาวประมงได้

เรื่องของการเสริมสร้างพลังอำนาจ เราให้ความสำคัญต่อความเท่าเทียมของหญิงและชายในสิทธิทางเพศกับคนในลุ่มน้ำโขง โดยเฉพาะในกลุ่มชาวประมงพบว่ามีความเท่าเทียมมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะใคร ๆ ก็มีสิทธิหาปลา ใคร ๆ ก็มีสิทธิเป็นเจ้านายตัวเองและสามารถสร้างพลังอำนาจของตัวเองได้

นอกจากนี้ยังให้หน้าที่ทางสังคมด้วย รวมถึงความผูกพันในแม่น้ำโขงระหว่าง คน ปลา และสัตว์น้ำอื่น เรามีประเพณีที่เชียงแสนและเชียงของเกี่ยวกับปลาบึก ชาวเวียดนามและกัมพูชาเองก็ถือว่าปลาบึกเป็นปลาจ้าว กระทั่งมีประเพณีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำที่สืบสานกันมารุ่นสู่รุ่น

ในแง่หน้าที่ทางสิ่งแวดล้อม ปลาในแม่น้ำโขงเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นที่ริมฝั่งและแหล่งข้างเคียง ถามว่าทำไมการทำเกษตรริมั่ง การทำนาในแม่น้ำสงครามถึงใช้เวลาสั้น นั่นก็เพราะดินมีความอุดมสมบูรณ์ โดยที่ดินที่มีความอุดมสมบูรณ์นี้มาจากแร่ธาตุที่ถูกพัดมาในช่วงน้ำท่วม เมื่อน้ำจากแม่น้ำโขงเข้ามาในพื้นที่ ปลาที่ตามมาด้วย หากตายก็จะกลายเป็นแร่ธาตุเช่นกัน เพราะฉะนั้นแม่น้ำโขงให้อะไรกับเรามากมาย โดยเฉพาะเรื่องของลมหายใจจากสิ่งมีชีวิตในน้ำ

แล้วทำไมปลาและสัตว์น้ำอื่นในแม่น้ำโขงถึงมีลมหายใจแผ่วเบาที่สุด แน่นอนว่าส่วนหนึ่งก็มาจากโลกร้อนและผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรเปลี่ยนไปอย่างมากของโลก เพราะสัตว์น้ำบางชนิดเป็นสัตว์เลือดเย็น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีผลอย่างแน่นอนต่อการดำรงชีวิต การเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ริมฝั่ง รวมไปถึงการสร้างฝายต่าง ๆ กันตลิ่งพังก็มีผลต่อการแลกเปลี่ยนธาตุอาหารของพื้นที่ริมฝั่งกับแม่น้ำโขง รวมถึงปัญหาเรื่องการประมงแบบทำลายล้างที่ใช้เครื่องมือประมงที่จับแม้กระทั่งลูกปลาขนาดเล็ก โดยไม่ปล่อยให้มันโตเต็มที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ก่อนและค่อยจับมาใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องปลาและสัตว์น้ำต่างถิ่น โดยเฉพาะที่เป็นพวกผู้ล่า เราก็จะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับกุ้งก้ามแดงซึ่งตอนนี้เกิดที่ชลบุรี อาจจะยังไม่เป็นปัญหาในแม่น้ำโขงบ้านเรา แต่สิ่งเหล่านี้มีผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ ชนิดความหลากหลาย และปริมาณ ซึ่งเราจะนำกลับมาใช้ประโยชน์

นอกจากประเด็นเหล่านี้แล้ว สิ่งที่เป็นกังวลที่สุดในขณะนี้คือ การมีเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายประธาน ซึ่งการมีเขื่อนนี้มุมหนึ่งมีข้อดีในเรื่องของการสร้างพลังงาน แต่ในอีกมุมหนึ่งเมื่อธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงก็ย่อมเกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต ผลกระทบต่อนิเวศวิทยาในพื้นที่นั้นที่ได้มีการปรับตัวมาแล้วเป็นล้าน ๆ ปี จนเริ่มจะสมดุลแล้วหรือแม้กระทั่งสมดุลแล้ว เพราะฉะนั้นเมื่อมีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่และมีผลกระทบโดยตรงต่อแม่น้ำโขงสายประธาน ก็ย่อมสร้างผลกระทบต่อสรรพชีวิตในแม่น้ำโขงด้วย

ดังจะเห็นได้ว่ามีข่าวและรายงานทางวิชาการออกมาในเรื่องผลกระทบของแม่น้ำโขงจากการมีสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ขวางกั้นลำน้ำสายประธาน ซึ่งมีข้อกังวลถึงสิ่งที่เราเรียกว่าบริการจากธรรมชาติ ทั้งในแง่บริการทางนิเวศ บริการทางอาหาร และสินค้าจากธรรมชาติที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มปลาและสัตว์น้ำอื่น          

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ เขื่อน แน่นนอนว่าเมื่อมีเขื่อนก็ต้องมีการควบคุมน้ำ มีการกักเก็บน้ำ มีการปล่อยน้ำ ตามความต้องการในการผลิตพลังงาน แต่ประเด็นหลักคือการไหลของน้ำคือสิ่งที่ควบคุมปลาและสิ่งมีชีวิตอื่นในแม่น้ำโขง ซึ่งก็จะมีช่วงหน้าแล้งหรือช่วงน้ำน้อย โดยช่วงนี้ปลาจะอาศัยอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าบ่อหรือหลุมในแม่น้ำโขง และพอเริ่มมีน้ำหรือเข้าสู่ช่วงหน้าฝน ปลาในแม่น้ำโขงจะเริ่มอพยพ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะสายน้ำที่ไหลแรงเป็นตัวกระตุ้นให้ปลาว่ายทวนน้ำขึ้นไป เพราะแหล่งอาหาร แหล่งออกซิเจนสูง และแหล่งสืบพันธุ์หรือวางไข่นั้นอยู่ข้างบน หลังจากสืบพันธุ์วางไข่ ลูกหลานก็เติบโตและไปอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม และพอท้ายปีช่วงน้ำลงลูกหลานก็จะอพยพกลับสู่แม่น้ำโขง นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นล้านปี

แต่พอมีเขื่อน เรากังวลว่าวงจรนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงไป และจะกระทบกับวงจรชีวิตของปลาและสัตว์น้ำในแม่น้ำโขง ซึ่งก็ต้องให้ความเข้าใจก่อนว่าพวกบริษัทต่าง ๆ ก็พยายามจะรักษาสิ่งที่เรียกว่าการไหลของน้ำที่เป็นไปตามธรรมชาติ (Environmental Flow) ให้สอดคล้องกับธรรมชาติ ซึ่งถ้าทำงานร่วมกันได้ก็จะเป็นการดี แต่สิ่งที่เรากังวลอีกอย่างหนึ่งก็คือ การที่มีการปล่อยน้ำวันต่อวันก็ยังเป็นปัญหาที่ไม่ได้ข้อสรุปว่าต้องปล่อยแค่ไหนถึงจะไม่มีผลกระทบหากฤดูกาลยังเป็นไปตามเดิม

ในแง่ของการอพยพเพื่อสืบพันธุ์วางไข่ เมื่อมีสิ่งกีดขวางมาขวางกั้น ปลาก็ไม่สามารถสืบพันธุ์วางไข่ได้ซึ่งก็หมายความว่าจะไม่มีลูกหลานมาชดเชยส่วนที่ตายไป ไม่มีลูกหลานมาชดเชยส่วนที่ทำการประมงไป เพราะฉะนั้นนี่เป็นสิ่งที่เป็นข้อกังวลสำคัญอันดับสอง

แต่ก็ต้องบอกว่าทางบริษัทผู้พัฒนาต่างๆ ก็มีความจริงใจในการทำงานศึกษาผลสัมฤทธิ์ในส่วนนี้

และท้ายที่สุดก็คงจะไปสอดคล้องกับสิ่งที่พวกเราได้ทำวิจัยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำได้ทำให้แหล่งอาศัยต่าง ๆ ในแม่น้ำโขงที่สามารถถูกแบ่งประเภทได้กว่า 30 -40 ชนิด มีผลกระทบ มีการเปลี่ยนแปลงไป และแหล่งอาศัยแต่ละที แต่ละแหล่งก็มีความเหมาะสมต่อปลาและสัตว์น้ำแตกต่างกันไป

เพราะฉะนั้น ส่วนตัวผมจึงดีใจที่งานวิจัยที่พวกเราทำอย่างน้อยก็จะเป็นตัวช่วยฟื้นฟูและทำให้ผลกระทบต่าง ๆ ดังกล่าวน้อยลง เพราะหากรักษาพื้นที่และแหล่งอาศัยได้ ปลาก็จะมีทางรอดในระดับหนึ่ง

ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น มีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกันทั้งระดับองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่สำคัญอย่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงก็มีข้อตกลงและการพัฒนาแม่น้ำโขงว่าทำอย่างไรถึงจะสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันจากแม่น้ำโขงได้มากที่สุดและทำให้ความยั่งยืนของระบบนิเวศมากที่สุด

ในกรณีของเขื่อน ได้มีการออกเกณฑ์ มาตรการ หรือมาตรฐาน ว่าหากจะสร้างเขื่อน เขื่อนบนลำน้ำโขงสายประธานจะต้องมีลักษณะอย่างไร นอกจากนี้แล้ว ในปีนี้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเพิ่งออกรายงานเรื่องการติดตามสิ่งแวดล้อมร่วมกันของประเทศสมาชิก (Joint Environmental Monitoring: JEM) ซึ่งได้มีการเริ่มดำเนินการไปบางส่วนแล้ว มีในส่วนที่บอกว่าประเทศที่เป็นเจ้าของเขื่อนหรือบริษัทผู้พัฒนาต่าง ๆ ควรจะมีแนวทางอย่างไรในการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้เอื้อต่อนิเวศ เพื่อให้เอื้อต่อสรรพชีวิตในแม่น้ำโขง ซึ่งนี่เป็นภาพรวมในระดับข้างบน นับเป็นความพยายามในระดับหนึ่ง

สิ่งที่พวกเราทำในชุมชนร่วม 2 ปี ที่ผ่านมา ผมอ่านทั้ง 22 รายงานด้วยความดีใจ ซึ่งทำได้ดีกว่าลูกศิษย์ในระดับปริญญาโทของผมบางคนเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งของพวกเราหลายส่วนในทางวิชาการเรียกว่า Local Ecological Knowledge ก็คือองค์ความรู้ชุมชนท้องถิ่นเพื่อสร้างความยั่งยืนของระบบนิเวศ ซึ่งองค์ความรู้ลักษณะนี้มีงานที่เป็นจุดเด่นของแม่น้ำโขงอยู่ 3 – 4 งาน งานแรกก็คือ เราในฐานะนักวิทยาศาสตร์ เรารู้ว่าปลาแม่น้ำโขงอพยพอย่างไรและไปทางไหนบ้างก็ด้วยความรู้จากชาวประมง จากชุมชน เป็นการติดตามไปขอข้อมูล ไปขอความรู้ และนำมาประกอบกับธรรมชาติวิทยาของปลาแต่ละชนิด จนในที่สุดเราก็รู้ว่าปลาแต่ละชนิดในแม่น้ำโขงอพยพอย่างไรบ้าง และก็สามารถคาดการณ์ถึงแนวโน้มผลกระทบจากการพัฒนาต่าง ๆ ด้วย แต่ความรู้เราก็สามารถบอกได้ว่าปลาขนาดใหญ่ชนิดไหนอยู่ในสภาวะอย่างไร และก็ตีพิมพ์เป็นรายงานเกี่ยวกับปลาขนาดใหญ่เหล่านี้ รวมไปถึงการที่เข้าไปขอองค์ความรู้และร่วมมือกับชุมชนเพื่อสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์ เพื่อปลาได้อยู่อาศัย สืบพันธุ์ และวางไข่

จะเห็นได้ว่าสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์จะต้องใช้ห้องปฏิบัติการและใช้เวลานานนับสิบปี หากนักวิทยาศาสตร์และชุมชนร่วมมือกัน เราก็จะได้องค์ความรู้ที่ชุมชนมีมาประกอบกับองค์ความรู้ทางด้านธรรมชาติวิทยาสามารถเอาไปใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรได้เป็นอย่างดี ซึ่งก็มีหลายตัวอย่างในกรณีของแม่น้ำโขงเช่นเดียวกัน ซึ่งก็เป็นที่มาของงานวิจัยที่พวกเราทำใน 2 ปีที่ผ่านมา

เราได้ข้อสรุปอย่างหนึ่งว่าจากธรรมชาติวิทยาและชีวิวทยาของปลาในแม่น้ำโขง ปลาในแม่น้ำโขงที่มีขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ที่ไม่ใช่พวกปลาขนาดใหญ่อย่างปลาบึก ปลากะโห้ หรือปลากระเบน โอกาสที่จะสูญพันธุ์จากการประมงหรือการถูกจับมาใช้ประโยชน์นั้นไม่มีเลย เป็นศูนย์ ยกเว้นเสียแต่แหล่งที่อยู่อาศัย พื้นที่อพยพ หรือการไหลของน้ำจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจนปลาปรับตัวไม่ได้ ซึ่งจะเห็นได้วาการไหลของน้ำ แหล่งที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนอาจจะต้องใช้พลังในระดับประเทศ ใช้พลังในระดับนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อน เพื่อจะทำอย่างไรให้เป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด แต่ในเรื่องของที่อยู่อาศัย เป็นเรื่องของพลังที่เราสามารถทำเองได้ เป็นสิ่งที่พวกเราสามารถฟื้นฟูได้ โดยชุมชนร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งสุดท้ายก็จะได้ผลตามรายงาน 22 ฉบับ ที่ออกมาในครั้งนี้ที่จะช่วยในเรื่องของการอนุรักษ์ การฟื้นฟูพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงความยั่งยืนของความหลากหลายของปลาและสัตว์น้ำในพื้นที่นั้น ๆ ด้วย

Leave a comment