หนังสือภาพ “The Mekong Harmony”

หนังสือภาพถ่าย “แม่น้ำโขง สัมพันธ์ภาพแห่งชีวิต” (The Mekong Harmony) ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการถ่ายทอดภาพอันสวยงามของแม่น้ำโขง แม่น้ำสายยาวที่ไหลผ่านนานาประเทศนับพันกิโลเมตร แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่คงค้างในใจพวกเรามายาวนาน แม้ตลอดการทำงานของพวกเราจะมีช่วงเวลาให้แทบหยุดหายใจเสมอเมื่ออยู่ท่ามกลางการโอบล้อมของทั้งแม่น้ำ ภูเขา หินผา ที่รวมเป็นทิวทัศน์และบรรยากาศอันตรึงใจ แต่เมื่อเราหยุดนิ่ง และสังเกต กลับมีอีกหลายสิ่งที่ดึงดูดเรายิ่งกว่าทิวทัศน์ เราได้เห็นมนุษย์และจังหวะการใช้ชีวิตของพวกเขา เราได้เห็นสีเขียวที่ไล่เฉดต่างกันไปของพุ่มไม้น้ำ บ้างมีดอกขาว บ้างมีผลแดงก่ำพราวทั่วต้น เราได้ยินเสียงนกต่างสายพันธุ์ร้องกระจายไปทั่วคุ้งน้ำทั้งไกลและใกล้ พร้อมเสียงกระพือปีกแยกย้ายจากดอนและแก่งยามเรือหาปลาแล่นผ่าน กลิ่นดินตะกอนหลากมาพร้อมสายน้ำ หรือหากเราเดินตามชาวประมงไป จะได้กลิ่นปลาสดใหม่ที่ดิ้นกันอยู่เต็มข้อง และแม้เราไม่ได้อยู่เป็นพยานของปรากฏการณ์ตรงนั้น แต่สิ่งเหล่านี้ก็เกิดขึ้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันเป็นปกติธรรมดา ผันเปลี่ยนและเวียนซ้ำตามฤดูกาลเหมือนที่ได้ดำเนินมาตลอดก่อนหน้านี้เนิ่นนาน เป็นข่ายใยชีวิตที่ล้วนประสานสอดคล้องโดยไม่อาจแยกขาดจากกันได้ คงเป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งที่ต้องหมุนไปด้วยการพึ่งพาและเกื้อกูล เพราะสมดุลของธรรมชาตินั้นเกิดขึ้นไม่ได้จากการครอบครองกันและกัน ไม่มีสิ่งใดถือตนเป็นเจ้าของสิ่งอื่นได้

หนังสือภาพเล่มนี้จึงหวังพาผู้อ่านไปเฝ้ามองการสนทนาของธรรมชาติร่วมกับเรา ผ่านภาพถ่ายทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ซึ่งมีวิถีของตัวเองต่างกันไปในแต่ละฤดูกาล ทั้งฤดูแล้ง ฤดูน้ำหลาก และช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน คัดเลือกและร้อยเรียงจากภาพถ่ายที่สะสมไว้ปีแล้วปีเล่า และการย้อนดูภาพถ่ายเหล่านี้เองที่สร้างความรู้สึกอันหนักหน่วงหลากหลายอยู่ภายใน จากทั้งภาพที่สร้างแรงบันดาลใจแก่เราเพื่อศึกษาสิ่งนั้นเพิ่มเติม ทั้งภาพที่พาเราอิ่มเอมเมื่อนึกถึงช่วงเวลาอันสวยงาม และหลายภาพที่พาเราจมกับความรู้สึกเศร้าอย่างอธิบายได้ยาก เมื่อสิ่งที่อยู่ในภาพนั้นได้สูญหาย ถูกทำลาย และเปลี่ยนแปลงไปแล้วอย่างถาวร เราคงทำใจได้ง่ายขึ้นหากการสาบสูญนั้นมาจากผลพวงของเหตุการณ์ทางธรรมชาติ แต่ที่เกิดขึ้นคือ ทั้งเกาะแก่ง นก ปลา ชุมชน วิถีชีวิตของผู้คน ฯลฯ ได้ถูกประเมินค่าให้ต่ำจนสามารถถูกแทนที่ได้ด้วยเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ

แม่น้ำโขง ได้หล่อเลี้ยงชุมชนและระบบนิเวศที่มีความสัมพันธ์กัน เป็นประโยชน์สาธารณะที่พร้อมโอบรับผู้ต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสายสัมพันธ์ในระบบนิเวศ ประโยชน์สาธารณะมีความหมายกว้างขวาง มากกว่าประโยชน์ต่อมนุษย์ แต่รวมถึงประโยชน์ต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้ความสัมพันธ์ของพืช สัตว์ สิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ดำเนินไปอย่างสมดุลและสมบูรณ์ และความอุดมสมบูรณ์นั้นส่งผลต่อเนื่องมายังชุมชนลุ่มน้ำโขงกว่า 60 ล้านคน ได้พึ่งพามาหลายชั่วคน แต่การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ได้กำหนดประโยชน์สาธารณะใหม่ ที่มีขอบเขตคับแคบ ตื้นเขิน ขาดเมตตา เหลือเพียงประโยชน์แก่กลุ่มคนเพียงหยิบมือ ที่แปลงสภาพสรรพสิ่งให้กลายเป็นทรัพยากรที่มีมูลค่าคิดคำนวนได้ และผันสายน้ำให้เป็นต้นทุนเพียงเพื่อรับใช้อุดมการณ์เฉพาะกลุ่ม ทุก ๆ สตางค์ของดอกเบี้ยที่ผันไปสู่ความมั่งคั่งของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จึงหมายถึงการล่มสลายของระบบนิเวศที่มีคุณค่าต่อสาธารณะอย่างไม่อาจหวนคืนได้

เด็กน้อยว่ายน้ำเล่นอยู่หน้าหัวงานก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี

การร้อยเรียงภาพในหนังสือภาพถ่าย “แม่น้ำโขง สัมพันธภาพแห่งชีวิต” (The Mekong Harmony) นอกจากจะแสดงภาพความสัมพันธ์ของระบบนิเวศแม่น้ำโขง ผ่านช่วงเวลาหลักในรอบปี ทั้ง ฤดูน้ำหลาก ฤดูแล้ง และช่วงรอยต่อของฤดู ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว เรายังมีบทสุดท้ายที่ขออุทิศและให้พื้นที่แก่ภาพ “ในความทรงจำ” ของแม่น้ำโขง ภาพถ่ายของสรรพชีวิต ภูมิประเทศ พืชพรรณ สัตว์ และชุมชน ที่ล้วนล่มสลายไม่อาจหวนคืนจากการสร้างเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง เพื่อหวังสร้างความทรงจำร่วมกันว่า พื้นที่ใต้ฐานเขื่อนในปัจจุบันนี้ได้ฝังกลบห้วงเวลาที่เคยมีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของผู้คน เคล้าไปกับเสียงนกต่างสายพันธุ์ร้องกระจายไปทั่วคุ้งน้ำทั้งไกลและใกล้ พร้อมเสียงกระพือปีกแยกย้ายยามเรือหาปลาแล่นผ่าน ท่ามกลางสีเขียวที่ไล่เฉดต่างกันไปของพุ่มไม้น้ำ บ้างมีดอกขาว บ้างมีผลแดงก่ำพราวทั่วต้น และเมื่อเราจินตนาการว่าเดินตามชาวประมงไป จะได้กลิ่นปลาสดใหม่ที่ดิ้นกันอยู่เต็มข้อง…
…และเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันว่า แม่น้ำโขงต้องไม่มีเขื่อนอีก


ขอขอบคุณมูลนิธิไฮน์ริค เบิลล์ (Heinrich Boll Foundation) ในการสนับสนุนการทำงานและการจัดพิมพ์สมุดภาพเล่มนี้

ดาวน์โหลดหนังสือภาพ ที่นี่

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s