ประมวลโดย มนตรี จันทวงศ์
กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง (The Mekong Butterfly)
5 เมษายน 2566
การเปลี่ยนแปลงระดับแม่น้ำโขงจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนปากแบ่ง
โครงการเขื่อนปากแบ่ง ที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขงในประเทศสปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทยบริเวณแก่งผาได อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงรายลงไปประมาณ 90 กิโลเมตร จนถึงปัจจุบันเพียงรอขั้นตอนสุดท้าย คือการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ก็จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีการศึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ว่าระดับน้ำท่วมที่ระดับเก็บกัก 340 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) และระดับน้ำเท้อ อันเนื่องมาจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากแบ่ง จะส่งผลต่อระดับน้ำโขงในเขตประเทศไทยอย่างไร และรวมทั้งแนวเขตแดนระหว่างประเทศในแม่น้ำโขง จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด เพื่อแลกกับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบ่งเพียง 897 เมกะวัตต์ ในขณะที่ภาระไฟฟ้าสำรองในระบบสูงกว่า 50% ในปัจจุบัน เอกสารนี้จะทำการสำรวจการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น จากอ่างเก็บน้ำเขื่อนปากแบ่ง ที่ระดับเก็บกัก 340 ม.รทก.
จากการสำรวจข้อมูลเส้นระดับความสูงจากแผนที่ 1:50000 เส้นระดับความสูง 340 ม.รทก. จะเลาะขอบตลิ่งแม่น้ำโขง วกเข้าน้ำสาขา เช่น น้ำงาว (ซึ่งไม่แสดงเส้นระดับความสูงในแผนที่) และน้ำอิง (เส้นระดับความสูงไปวกกลับที่บ้านทุ่งอ่าง) และเส้นระดับความสูงในแม่น้ำโขงไปสิ้นสุดที่รอยต่อบ้านโจโก้กับบ้านดอนชัย ดังนั้นอ่างเก็บน้ำเขื่อนปากแบ่งจะล้ำเข้ามาเป็นระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตร โดยยังไม่รวมระดับน้ำเท้อ (ชาวบ้านจะเรียกว่า “หัวน้ำ”)
การสำรวจข้อมูลจากเอกสารของบริษัทผู้สร้างเขื่อน และรายงานการประเมินทางเทคนิคของสำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง พบว่า ระดับเก็บกับที่ 340 ม.รทก. จะท่วมแก่งผาไดตลอดทั้งปี ในช่วงฤดูแล้ง จะปรากฎเกาะแก่งผาไดเดิมให้เห็นอยู่กลางลำน้ำโขง (ดูภาพที่ 4) และระดับน้ำเท้อที่แก่งผาไดจะสูงสุดที่ประมาณ 3 เมตร เมื่ออัตราการไหลของแม่น้ำโขงลดต่ำลงเหลือ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีหรือต่ำกว่านี้ และจะเอ่อเข้าลำน้ำงาวและลำน้ำอิง
การสำรวจภาคสนามติดตามการปักเสาระดับน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ ได้ให้ภาพที่ชัดเจนถึงระดับน้ำท่วมที่ 340 ม.รทก. ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ ปากแม่น้ำอิง, บ้านแจ่มป๋อง และลำน้ำงาว ถึงแม้ว่าระดับ 340 ม.รทก. จะไม่ได้ท่วมหมู่บ้านที่ติดแม่น้ำโขง แต่ชุมชนจะสูญเสียพื้นที่ทำกินถาวรในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำของลำน้ำงาวประมาณ 3-500 ไร่ มีความเสี่ยงต่อระดับน้ำเท้อ (ชาวบ้านจะเรียกว่า “หัวน้ำ”) ในช่วงฤดูฝนต่อทั้งพื้นที่เกษตรกรรมและที่ตั้งชุมชนในลุ่มน้ำงาว ของอำเภอเวียงแก่น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพนิเวศจากน้ำไหลเป็นน้ำนิ่งของอ่างเก็บน้ำ จะส่งผลให้ชุมชนไม่สามารถใช้เครื่องมือประมงที่ต้องอาศัยน้ำไหลได้อีกต่อไป เช่น การไหลมอง เป็นต้น และผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงชนิดพันธุ์สัตว์น้ำ, การเกิดไก, ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกประจำถิ่นและนกอพยพ และห่วงโซ่ความสัมพันธ์ในระบบนิเวศน้ำไหลจะถูกทำลายลงสิ้นเชิง
การสำรวจข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง สามารถสรุปรายละเอียดได้ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขงที่แก่งผาได อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
เขื่อนปากแบ่ง เมื่อเก็บกักน้ำที่ระดับ 340 ม.รทก. จะเกิดอ่างเก็บน้ำท่วมเข้ามาในเขตประเทศไทย โดยเฉพาะแก่งผาได จะเกิดน้ำท่วมทำให้พื้นที่แก่งผาได ถูกตัดขาดออกจากตลิ่งแม่น้ำโขงของประเทศไทย เหลือเป็นแก่งกลางแม่น้ำโขงตลอดไป โดยดูจากภาพตัดขวางแม่น้ำโขง ที่แก่งผาได และรวมถึงระดับน้ำเท้อที่อัตราการไหลของแม่น้ำโขงต่าง ๆ กัน จากรายงาน Technical Review Report เรื่อง Prior Consultation for the Proposed Pak Beng Hydropower Project ตามภาพที่ 1 และกราฟแสดงระดับน้ำเท้อในภาพที่ 2
ภาพที่ 1 ภาพตัดขวางแม่น้ำโขงที่แก่งผาได แสดงระดับน้ำท่วมของเขื่อนปากแบ่ง ที่ระดับ 340 ม.รทก.
และระดับน้ำเท้อที่อัตราการไหล (1) 2,200 , (2) 3,000 , (3) 6,000 และ (4) 10,000 ลบ.ม./วินาที
ภาพที่ 2 ระดับน้ำเท้อจาก รายงาน Technical Review Report เรื่อง Prior Consultation for the Proposed Pak Beng Hydropower Project
ภาพที่ 2 นี้ ได้เปรียบเทียบระดับน้ำเท้อ ที่อัตราการไหลแตกต่างกัน บริเวณแก่งผาได พบว่าระดับน้ำเท้อจะเพิ่มสูงขึ้น เมื่ออัตราการไหลของน้ำโขงลดลง โดยระดับน้ำเท้อจะสูงสุดที่ 3 เมตร เมื่อแม่น้ำโขงมีอัตราการไหล 2,200 ลบ.ม./ว. และระดับน้ำเท้อจะลดลงเหลือ 1.4 เมตร เมื่อแม่น้ำโขงมีอัตราการไหล 10,000 ลบ.ม./ว. อย่างไรก็ตามอัตราการไหลของน้ำโขง สามารถนำมาเทียบกับค่าระดับน้ำโขงที่เชียงแสน(โดยประมาณ) ได้ 3.28 และ 7.95 เมตรตามลำดับ ซึ่งได้แสดงรายละเอียดในตารางที่ 1
แบบจำลองนี้ได้ชี้ให้เห็นว่า หากแม่น้ำโขงไหลน้อยลงกว่า 2,200 ลบ.ม./ว. ระดับน้ำเท้อที่แก่งผาไดจะไม่ต่ำกว่า 3 เมตร ถึงแม้ว่าอัตราการไหลเฉลี่ยของแม่น้ำโขงที่สถานีเชียงแสน ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ย้อนหลัง 4 ปี (2563 – 2566) จะต่ำกว่า 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งหมายถึงระดับน้ำเท้อจะท่วมแก่งผาได ไม่สามารถใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้อีกต่อไป และจะนำไปสู่ประเด็นข้อพิพาทในเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับสปป.ลาว ในลำน้ำโขงได้ ซึ่งแสดงเปรียบเทียบในภาพที่ 3 และ 4
ตารางที่ 1
อัตราการไหล (ลูกบาศก์เมตร ต่อวินาที) | เปรียบเทียบกับระดับน้ำโขง ที่สถานีเชียงแสน (เมตร) | ระดับน้ำปกติ ที่แก่งผาได (เมตร รทก.) | ระดับน้ำเท้อที่แก่งผาได (เมตร รทก.) | ระดับน้ำเพิ่มขึ้นที่แก่งผาไดโดยประมาณ (เมตร) |
2,200 | 3.28 | 338.2 | 341.2 | 3 |
3,000 | 3.97 | 339.8 | 342 | 2.2 |
6,000 | 6.66 | 343.2 | 345 | 1.8 |
10,000 | 7.95 | 347.4 | 348.8 | 1.4 |
ภาพที่ 3 แก่งผาไดในฤดูน้ำลด จะมีอาณาเขตติดกับตลิ่งฝั่งไทย เป็นอาณาเขตของประเทศไทย
ภาพที่ 4 แสดงภาพแก่งผาได ที่มีระดับน้ำท่วมใกล้เคียงกับแบบจำลองอัตราการไหล ซึ่งจะแยกแก่งผาไดกลายเป็นเกาะแก่งกลางแม่น้ำโขง
- การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขงตอนใน
การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขงตอนในจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนปากแบ่ง จะเกิดขึ้นจากแก่งผาได ขึ้นมาตามลำน้ำโขงเป็นระยะทางประมาณ 24 กิโลเมตร ปลายอ่างเก็บน้ำจะสิ้นสุดบริเวณรอยต่อ ของบ้านโจโก้กับบ้านดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย ทั้งนี้ทีมงานกลุ่มรักษ์เชียงของ, สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต, องค์การแม่น้ำนานาชาติ และกลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง ได้ลงพื้นที่สำรวจระดับน้ำโขงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อสำรวจเปรียบเทียบกับเสาหลักระดับน้ำ ซึ่งดำเนินการติดตั้งโดยกรมทรัพยากรน้ำในปี 2562 ใน 3 พื้นที่คือ ปากน้ำอิง, บ้านแจ่มป๋อง และปากน้ำงาว และได้ข้อมูลจากการสำรวจดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขงที่ปากแม่น้ำงาว และลำน้ำงาว
ระดับน้ำที่ 340 ที่ปากแม่น้ำงาว จะมีระดับสูงกว่าระดับน้ำ ณ วันสำรวจ ระหว่าง 2.70-3.00 เมตร จะส่งผลให้ชุมชนไม่สามารถใช้ที่ดินริมฝั่งน้ำงาวตอนใน เพื่อปลูกพืช เช่น ข้าวโพด หรือพืชอื่น ๆ ได้อีกต่อไป ซึ่งยังไม่สามารถประเมินขนาดของพื้นที่ที่แน่นอนได้ คาดว่าจะอยู่ระหว่าง 3-500 ไร่ นอกจากนี้ระดับน้ำที่สูงในน้ำงาว จากเขื่อนปากแบ่ง จะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง ไม่สามารถระบายได้ตามธรรมชาติ ของหมู่บ้านตอนในที่ทำนาและสวนส้มโอ ยังไม่มีการสำรวจความเสียหายที่ชัดเจนในกรณีนี้ ภาพการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำงาว แสดงไว้ในภาพที่ 5 และ 6
ภาพที่ 5 ภาพปากน้ำงาว-น้ำโขง บ้านแจ่มป๋อง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
ภาพที่ 6 ลุ่มน้ำงาวตอนในและพื้นที่ดอนลุ่มต่ำเพื่อการเกษตร วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
2.2 การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขงที่บ้านแจ่มป๋อง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย
ระดับน้ำท่วมที่ 340 ม.รทก. จะทำให้เกิดสภาะอ่างเก็บน้ำ และน้ำนิ่ง ตลอดทั้งปี จากบริเวณปากน้ำงาว ขึ้นมาถึงบ้านแจ่มป๋อง ระดับน้ำจะสูงกว่าระดับในภาพ(28 กุมภาพันธ์ 2566) ประมาณ 2.70-3.00 เมตร ชาวบ้านไม่สามารถทำการประมงที่ต้องอาศัยน้ำไหลได้อีกต่อไป เช่น ไหลมอง จั่น เป็นต้น ชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่อาศัยน้ำไหล จะค่อย ๆ สูญพันธุ์ไป และพืชไม้น้ำที่ระดับต่ำกว่า 340 ม.รทก. จะสูญพันธุ์ไปทั้งหมด ซึ่งแสดงระดับน้ำท่วมในภาพที่ 7 และ 8
ภาพที่ 7 เสาวัดระดับน้ำ ของกรมทรัพยากรน้ำ ที่ ท่าเรือบ้านแจ่มป๋อง จ.เชียงราย วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
ภาพที่ 8 ระดับน้ำท่วม 340 ม.รทก. ที่ ท่าเรือบ้านแจ่มป๋อง อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
2.3 การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโขงที่ปากน้ำอิง บ้านปากอิงใต้ จ.เชียงราย วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
ระดับน้ำท่วมที่ 340 ม.รทก. จะทำให้เกิดสภาะอ่างเก็บน้ำ และน้ำนิ่ง ตลอดทั้งปี ที่ปากแม่น้ำอิง ระดับน้ำโขงจะสูงกว่าในภาพประมาณ 1 เมตร และเอ่อท่วมไปตามลำน้ำอิงจนถึงบ้านทุ่งอ่าง ชาวบ้านไม่สามารถทำการประมงที่ต้องอาศัยน้ำไหลได้อีกต่อไป เช่น ไหลมอง จั่น และชนิดพันธุ์สัตว์น้ำที่อาศัยน้ำไหล จะค่อย ๆ สูญพันธุ์ไป และส่งผลต่อเนื่องต่อชนิดพันธุ์ปลาในแม่น้ำอิง ตามภาพที่ 9
ภาพที่ 9 ปากแม่น้ำอิง-แม่น้ำโขง บ้านปากอิงใต้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566
2.4 การเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำบริเวณปลายอ่างเก็บน้ำเขื่อนปากแบ่ง
อ่างเก็บน้ำเขื่อนปากแบ่ง ที่ระดับ 340 ม.รทก. จะสิ้นสุดบริเวณรอยต่อบ้านโจโก้กับบ้านดอนชัย จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติตั้งแต่แก่งผาไดขึ้นมาจนถึงบริเวณนี้ เช่น ในบริเวณนี้เป็นพื้นที่หากินและวางไข่ของนกอพยพและนกประจำถิ่น และการเกิดไกในพื้นที่นี้ในอนาคต ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของชุมชนท้องถิ่นในเขตอำเภอเชียงของ ดังตัวอย่างในภาพที่ 10 และ 11
ภาพที่ 10
ภาพที่ 11
————————————–