ประชาชน 727 คน สนับสนุนยื่นฟ้อง ‘ประยุทธ์’ ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ กรณีการจัดการฝุ่น PM 2.5 ไร้พรมแดน ประชาสังคมชี้ ก.ล.ต. คณะกรรมการกำกับตลาดทุนต้องเร่งกำกับดูแล กำหนดมาตรการและบทลงโทษที่ชัดเจนต่อกลุ่มทุนไทย สกัดต้นตอการดำเนินธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2566 เครือข่ายประชาชนภาคเหนือ นักวิชาการคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ เด็ก และประชาชน รวม 10 ราย ได้ร่วมกันยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน โดยมีประชาชนมาร่วมลงชื่อสนับสนุนฟ้อง 727 คน ซึ่ง เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดในภาคเหนือ และจังหวัดอื่นๆ พวกเขาเห็นว่า มลพิษทางอากาศจาก PM 2.5 มีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ แผนกคดีสิ่งแวดล้อม เป็นคดีหมายเลขดำที่ ส. 3/2566

ประชาชนรวมตัวแสดงพลังทวงคืนสิทธิในอากาศสะอาดและสนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน, ภาพโดย ม็อบทวงคืนปอดสะอาด

การฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครองในครั้งนี้ มีข้อเรียกร้องสำคัญ 3 ประการ ได้แก่

1. ฟ้องนายกรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจตามมาตรา 9 พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติอย่างร้ายแรง ให้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่ได้ใช้อำนาจนี้ จนการแก้ไขปัญหาวิกฤตฝุ่น PM 2.5 มีความล่าช้า ไม่ทันต่อความร้ายแรงของเหตุการณ์

2. ฟ้องคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” ซึ่งรัฐบาลประกาศแผนนี้มาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากในระยะเวลา 4 ปี ในการใช้แผนนี้ แทบจะไม่เห็นความคืบหน้า และปัญหายังคงความรุนแรงอยู่ นี่คือความผิดปกติที่ไม่อาจยอมรับ

3. ฟ้องคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และคณะกรรมการกำกับตลาดทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลภาคธุรกิจ ซึ่งมีหน้าที่ครอบคลุมถึงพันธกรณีนอกอาณาเขต (Extraterritorial Obligations) ให้กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้าน เพิ่มในแบบรายงาน 56-1 One Report หรือแบบอื่นๆ ในฐานะเอกสารสำคัญ สำหรับการตรวจสอบข้อมูลตลอดห่วงโซ่อุปทาน อันเกี่ยวเนื่องกับแหล่งกำเนิดฝุ่น PM 2.5 ทั้งที่เป็นกิจการในประเทศ และที่ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย 

ทั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง กระทำการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งกฎหมายภายในประเทศ และพันธกรณีระหว่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาภัยพิบัติจากมลพิษฝุ่น PM 2.5 ที่ไร้พรมแดนตลอดภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นสาเหตุมาจากทั้งฝุ่นภายในประเทศ และฝุ่นซึ่งเป็นผลกระทบข้ามพรมแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี สุขภาพ สุขภาวะ สิทธิมนุษยชน คุณภาพชีวิตของประชาชน และเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและสิทธิชุมชนตามกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

ในส่วนของคำขอท้ายฟ้องส่วน ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับทุน นั้นระบุว่า ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับทุน ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลควบคุม (Regulator) กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการจัดทำรายงานการเปิดเผยข้อมูล โดยกำหนดประเด็นเพิ่มเติมในแบบ 56-1 One Report หรือกำหนดแบบหรือวิธีการรายงานในลักษณะอื่น เพื่อให้บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ บริษัทลูก บริษัทย่อย บริษัทร่วมค้า หรือการลงทุนในรูปแบบใดๆ ที่เกี่ยวข้องตามห่วงโซ่อุปทาน ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจในกิจกรรมหลัก ให้ดำเนินการเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้านถึงผลกระทบหรือความเสี่ยงด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ทั้งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจในประเทศ และต่างประเทศ และ/หรือการดำเนินธุรกิจดังกล่าวได้ส่งผลกระทบข้ามพรมแดนมายังประเทศไทย ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับผลิตผลทางการเกษตรที่ต้องเผาและเป็นแหล่งกำเนิดมลภาวะฝุ่น PM 2.5 ข้ามพรมแดนกลับมายังประเทศไทย

นักกิจกรรมและศิลปินทำกิจกรรมศิลปะแสดงสด (performance art) ทวงคืนสิทธิในอากาศ บริเวณหน้าศาลปกครองเชียงใหม่, ภาพโดย ม็อบทวงคืนปอดสะอาด

ส. รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre: CRC) และตัวแทนจากคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) กล่าวว่า เหตุที่ต้องฟ้อง ก.ล.ต. และคณะกรรมการกำกับตลาดทุนด้วยนั้น เนื่องจากว่า ทั้งสองหน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรในกำกับของรัฐ ที่มีหน้าที่ต้องกำกับ ดูแล และควบคุมบริษัทเอกชนต่างๆ โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของไทย ไม่ว่าจะลงทุนในประเทศหรือต่างประเทศ ให้มีการดำเนินธุรกิจ ด้วยการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ก่อให้เกิดคุ้มครองไม่ให้เกิดการละเมิดใดๆต่อประชาชน รวมตลอดไปถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principle on Business and Human Rights: UNGP) ที่ขณะนี้ไทยเองรับมาปรับใช้ ด้วยการเป็นประเทศแรกในเอเชีย ที่จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (NAP) ออกมาแล้วหนึ่งฉบับ และกำลังจะมีฉบับที่ 2 ซึ่งคาดว่า จะมีการประกาศใช้ภายในปีนี้ แต่การนำไปปรับหรือบังคับใช้ยังคงมีปัญหาล่าช้า และยังไม่สามารถนำไปใช้ในการกำกับการดำเนินธุรกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานที่สร้างผลกระทบต่อประชาชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้อย่างแท้จริง 

การฟ้องคดีในครั้งนี้เป็นการดำเนินการเชิงรุกของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจ คาดว่าจะเป็นแบบอย่างที่จะนำไปสู่การสร้างข้อปฏิบัติและข้อบังคับที่ชัดเจนในทางกฎหมาย เพื่อให้การดำเนินธุรกิจอันเกิดจากภาครัฐและภาคเอกชนต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายมากขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการลงทุนของธุรกิจและรัฐวิสาหกิจไทยตั้งแต่ต้นทางได้มากยิ่งขึ้น 

หากพิจารณาตามองค์ประกอบ 3 เสาหลัก ของหลักการชี้แนะฯ ได้แก่ คุ้มครอง (Protect) เคารพ (Respect) และเยียวยา (Remedy) รัฐมีหน้าที่อย่างชัดเจนที่จะต้องให้ความคุ้มครองประชาชนที่ได้มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการประกอบธุรกิจไม่ว่าจะเป็นการประกอบในประเทศหรือข้ามพรมแดน รัฐต้องเข้ามาควบคุมไม่ให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น โดยต้องมีการเข้ามาจัดการทั้งในแง่ของการออกกฎหมาย นโยบาย กฎ ระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดการการคุ้มครอง เพื่อให้ภาคธุรกิจเกิดการเคารพปฏิบัติตาม และเมื่อผลกระทบได้เกิดขึ้น รัฐและภาคเอกชนก็จะต้องร่วมกันหาวิธีในการในการชดเชยเยียวยาต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและได้ส่วนอย่างเหมาะสม ไปจนถึงการป้องกันไม่ให้ผลกระทบนั้นเกิดขึ้นอีก 

“แต่ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ในครั้งนี้ และที่ผ่านมา เราเห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐไม่ได้แยแสที่จะแก้ปัญหาอย่างครอบคลุม ไม่สามารถทำให้ประชาชนวางใจกับการแก้ปัญหา ด้วยการกระทำเพียงการฉีดน้ำขึ้นฟ้าเพื่อลดฝุ่นละออง ซ้ำยังไม่ปฏิบัติหรือทำหน้าที่ตามกฎหมายและนโยบายที่มีอยู่แล้ว กล่าวได้ว่า รัฐประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ทั้งในการทำหน้าที่คุ้มครอง และเยียวยาประชาชน สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐละเลยทั้งกฎหมายภายในและพันธกรณีระหว่างประเทศอย่างมาก” 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s