ตลอดระยะเวลาของการลงนามซื้อไฟฟ้าของไทย จากเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงในสปป.ลาว ตั้งแต่ เขื่อนไซยะยุรี, เขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนปากลายนั้น เกิดขึ้นท่ามกลางคำถามถึงความจำเป็นด้านพลังงานไฟฟ้าของไทย และความสูญเสียต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและชุมชนลุ่มน้ำโขง เพราะทุกครั้งของการลงนาม ไทยมีไฟฟ้าสำรองในระบบเกินมาตรฐาน 15% ไปมากถึง 40-50% ประกอบกับกระบวนการตัดสินใจคัดเลือก และการเจรจาเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้า จนได้มาซึ่ง “สัญญาซื้อขายไฟฟ้า” นั้น (หรือ PPA: Power Purchase Agreement) ไม่ได้อิงกฏหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ไม่ได้อิงกับระเบียบว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และไม่ได้อิงกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยและหน้าที่ของรัฐ  แม้กระทั่งกลไกถ่วงดุลตรวจสอบของรัฐสภา ยังไม่สามารถเข้าถึงและตรวจสอบกระบวนการตัดสินใจหรือข้อมูลในสัญญาซื้อขายไฟฟ้านี้ได้ จึงส่งผลให้การลงนาม PPA ทั้งสามครั้งที่ผ่านมา เป็นการตัดสินใจของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียวโดยสมบูรณ์ 

แม้บริษัทต่าง ๆ ของไทย จะเป็นผู้ได้รับสัมปทานก่อสร้างเขื่อนและได้เงินกู้จากธนาคารของไทย จนสามารถลงนามขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้นั้น แต่จุดเริ่มของกระบวนการนี้นั้น บริษัททั้งหลายของไทย ไม่สามารถยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ได้โดยตรง ต้องอาศัยรัฐบาลสปป.ลาว เป็นผู้เสนอขายไฟฟ้า ภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (บันทึกความเข้าใจฯ) ซึ่งมีการลงนามเป็นลำดับดังนี้

1.  ครั้งที่หนึ่ง วันที่ 6 มิถุนายน 2536 กำหนดจำหน่ายไฟฟ้าให้ไทยในปริมาณ 1,500เมกะวัตต์ 

2.  ครั้งที่สอง วันที่ 19 มิถุนายน 2539 กำหนดจำหน่ายไฟฟ้าให้ไทยในปริมาณ 3,000เมกะวัตต์ 

3.  ครั้งที่สาม วันที่ 18 ธันวาคม 2549 กำหนดจำหน่ายไฟฟ้าให้ไทยในปริมาณ 5,000เมกะวัตต์ 

4. ครั้งที่สี่ วันที่ 22 ธันวาคม 2550 กำหนดจำหน่ายไฟฟ้าให้ไทยในปริมาณ 7,000 เมกะวัตต์ ต่อมามีการลงนาม PPA ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะยุรี ในวันที่ 29 ตุลาคม 2554 และเริ่มจ่ายไฟฟ้าให้ไทยเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562

5.  ครั้งที่ห้า วันที่ 6 กันยายน 2559 กำหนดจำหน่ายไฟฟ้าให้ไทยในปริมาณ 9,000 เมกะวัตต์

6.  ครั้งที่หก มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 มีนาคม 2565 เห็นชอบและอนุมัติร่างบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งมีกำหนดจำหน่ายไฟฟ้าให้ไทยในปริมาณ 10,500 เมกะวัตต์ โดยวิธีการลงนามแบบเสมือนจริง (Virtual Signing Ceremony) เพื่อตอบสนองข้อเสนอรัฐบาลสปป. ลาว ที่จะขายไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นน้ำโขง 3 โครงการได้แก่ เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนปากลาย และเขื่อนปากแบ่ง และมีการลงนาม PPA ของเขื่อนหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2565 และเขื่อนปากลาย เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2566

บันทึกความเข้าใจฯ ครั้งที่ 4 ที่ได้มีการขยายการรับซื้อจาก 5,000 เป็น 7,000 เมกะวัตต์นั้น ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ได้เสนอให้นำร่างบันทึกความเข้าใจฯนี้ เสนอต่อรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แต่มีการตีความไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อฝ่ายบริหาร จึงไม่มีการส่งให้รัฐสภาพิจารณาในขณะนั้น และล่าสุดบันทึกความเข้าใจฯ ที่เพิ่มขึ้นจาก 9,000 เป็น 10,500 เมกะวัตต์นั้น ก็มีข้อพิจารณาของกระทรวงพลังงานเอง ระบุถึงการต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 มาตรา 178 แต่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กลับเพิกเฉย ไม่นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา  ดังนั้นบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวนี้จึงไม่มีสภาพบังคับตามกฏหมายใด ๆ ให้รัฐบาลไทยต้องซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาวลาว เช่นเดียวกันกับบันทึกความเข้าใจซื้อไฟฟ้าที่ไทยได้ลงนามกับพม่า และจีน ตั้งแต่ปี 2540 และ ปี 2536 ตามลำดับซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพม่าและจีนเช่นกัน

การปกปิดข้อมูล กีดกันกระบวนการตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของประชาชน ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องกับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทุกฉบับ สะท้อนภาพความไม่โปร่งใส ขาดธรรมาภิบาล เต็มไปด้วยเงื่อนงำต่าง ๆ  เหล่านี้ ได้แก่

1. ทั้ง ๆ ที่ กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลนี้ แต่ กฟผ. อ้างเรื่องว่าเป็นสัญญาทางธุรกิจ ต้องให้คู่สัญญายินยอม 

2. การคิดราคาค่าไฟฟ้าแบบราคาเดียวตลอดอายุสัมปทาน โดยคิดรวมค่าเงินเฟ้อในปีสุดท้ายไว้ด้วย หมายถึงเราจ่ายค่าไฟฟ้าที่รวมเงินเฟ้อปีสุดท้าย เอามาจ่ายตั้งแต่ปีแรก

3. สัญญา PPA มีเงื่อนไขผูกมัด เรื่องระยะเวลา การดำเนินการของ กฟผ. ที่เกี่ยวข้องกับการรอนสิทธิของประชาชน เช่น เรื่องการเวนคืนที่ดิน เพื่อก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า ซึ่งในกฎหมาย กฟผ. เอง หรือ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ระบุระยะเวลา เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน และกระบวนการทำงานบนหลักธรรมาภิบาล โดยตั้งใจ

4. การลงนาม เกิดในช่วงเวลาที่ไม่เปิดเผย และไทยมีไฟฟ้าสำรองสูงกว่ามาตรฐานเกือบ 2เท่า

5. สัญญาซื้อไฟฟ้าเป็นการประกันการรับซื้อ  หรือ take or pay ซึ่งมีข้อวิจารณ์อย่างมากในการประกันรายได้ให้กับเอกชนคู่สัญญา โดย กฟผ. ในฐานะคู่สัญญา กลับเป็นฝ่ายแบกรับภาระต้นทุนไฟฟ้าส่วนเกินมหาศาลของระบบ ที่ต้องจ่ายตามสัญญา และต้นทุนเหล่านี้ถูกผลักลงมาในค่าไฟฟ้าของประชาชนทั้งประเทศ

6. ผลของสัญญา นำไปสู่การสร้างเขื่อน ที่สร้างผลกระทบข้ามพรมแดน ล่าสุดถึงแม้จะมีเงื่อนไขให้ทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนเพิ่มเติม ก่อนลงนาม PPA ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบางและเขื่อนปากลาย แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ

ดังนั้นเมื่อบันทึกความเข้าใจฯไม่มีสภาพบังคับ ยังพอจะเหลือเหตุผลอะไรอีก ที่รัฐบาลไทยต้องเข้าไปอุ้มข้อเสนอขายไฟฟ้าของรัฐบาลสปป.ลาว แล้วหันกลับมารีดเงินที่ต้องจ่ายตามสัญญานั้นจากประชาชน ผู้ซึ่งต้องรับภาระจ่ายค่าไฟแสนแพงในขณะนี้ ประชาชนในลุ่มน้ำโขงและระบบนิเวศน้ำโขงไม่ได้มีส่วนร่วมตัดสินใจอนาคตของตนเองเลย การกล่าวเช่นนี้ไม่เกินความจริง เนื่องจากว่า PPA ภายใต้เสื้อคลุมบันทึกความเข้าใจฯ นั้น คือเหตุสำคัญที่นำไปสู่การก่อสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง และหลักประกันเงินกู้ของสถาบันการเงินต่าง ๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ โดยไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อความพินาศย่อยยับของระบบนิเวศแม่น้ำโขง และการสูญเสียอาชีพ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชุมชนลุ่มน้ำโขง ที่เป็นผลกระทบที่จะเกิดแก่ประชาชนแต่อย่างใด 

กว่าจะหมดช่วงเวลาสัมปทานที่ต่อเนื่องกันของทั้ง 3 เขื่อนนี้ ความพินาศย่อยยับนี้ก็ใช้เวลาไปมากถึง 46 ปีแล้ว แต่การรีดเลือดนี้ยังไม่จบสิ้น ยังมีคิวการขยายการรับซื้อไฟฟ้า และ PPA ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนกั้นน้ำโขงที่เข้าคิวรออยู่อีกอย่างน้อย 5 เขื่อน กว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานของทุกเขื่อนก็คงไม่ต่ำกว่า 100 ปี เลือดของปูหรือพลังชีวิตของสายน้ำโขงจะค่อย ๆ หมดลง เหลือเพียงความเงียบงัน ความโดดเดี่ยวของมหานทีที่เคยยิ่งใหญ่แห่งนี้.

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s