พลับพลึงธารแม่น้ำโขง(Crinum viviparum) เป็นพืชที่เกิดในนิเวศแบบจำเพาะ คือบริเวณโขดหินริมน้ำโขงที่มีทรายปน สามารถอยู่ใต้น้ำได้ตลอดฤดูน้ำหลาก ดอกพลับพลึงธารจะบานตลอดฤดูแล้ง 1 กอ สามารถออกดอกได้มากกว่า 1 ช่อ และเกินกว่า 1 รอบ เมื่อดอกผลัดแรกเหี่ยวไป ดอกผลัดใหม่ก็พร้อมบาน จนฤดูน้ำหลากมาถึง กอพลับพลึงธารจะจมอยู่ใต้น้ำอีกครั้ง 

การสำรวจและรวบรวมข้อมูล พลับพลึงธารแม่น้ำโขง เบื้องต้น ในระหว่างเดือนธันวาคม 2563 ถึง เดือนมกราคม 2566 ในเขตอำเภอเชียงคาน ปากชม จังหวัดเลย และอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย ได้พบพลับพลึงธารแม่น้ำโขงเกิดกระจาย ตั้งแต่บ้านห้วยซวก อ.เชียงคาน ขึ้นไปจนถึงบ้านม่วง อ.สังคม ในพื้นที่รวม 8 แห่งได้แก่ หาดจอมนาง, แก่งฟ้า, คกไผ่, แก่งจันทร์, แก่งหัวดอน, ก้อนบ่อง-ก้อนขอนค้าง, หนองปลาบึก และก้อนเล้าข้าว (ดูตำแหน่งได้ในแผนที่ประกอบ) พบกอพลับพลึงธารแม่น้ำโขงรวมกันอย่างน้อย 391 กอ ในแต่ละกอ อาจจะมีตั้งแต่ต้นเดียวไปจนถึง 50 ต้นในกอเดียวกัน ขึ้นกับอายุและความสมบูรณ์ของแต่ละกอ ความหลากหลายของลักษณะรูปร่างภายนอกได้ปรากฏให้เห็น 2 ประการ คือ จำนวนหลอดกลีบดอกที่มีจำนวนแตกต่างกัน (แม้ว่าจะเกิดในกอเดียวกันก็ตาม) ตั้งแต่ 2 ถึง 23 หลอดกลีบดอก และสีของช่อดอกและหลอดกลีบดอกมี 2 สีแยกกันชัดเจน คือ สีขาว และสีม่วง 

ถึงแม้ว่าหลายปีมานี้ แม่น้ำโขงมีการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำและคุณภาพน้ำอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในจีนและลาว กระทบต่อระบบนิเวศและถิ่นที่อยู่ของพลับพลึงธารแม่น้ำโขง ส่งผลให้ต้นไม้จำนวนมากรวมทั้งพลับพลึงธารแม่น้ำโขงได้ตายลงไปจำนวนหนึ่ง อย่างไรก็ตามการติดตามตั้งแต่ปี 2563 พบว่าพลับพลึงธารแม่น้ำโขงยังสามารถให้ดอกและผล ขยายพันธุ์ตามธรรมชาติได้ ซึ่งจะพบพลับพลึงธารแม่น้ำโขงงอกใหม่เป็นต้นเดี่ยว ขนาดเล็กกระจายในเกือบทุกพื้นที่

นอกจากนี้ชะตากรรมของพลับพลึงธารแม่น้ำโขง ยังถูกคุกคามต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางพันธุกรรม (Genetic erosion) โดยกรมประมงได้ตัดต้น(หัว)และผลออกไปเมื่อต้นปี 2565 เพื่อนำไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ และนำกลับมาปลูกใหม่ โดยปราศจากการศึกษาธรรมชาติความรู้ความเข้าใจอย่างเพียงพอ ดังจะเห็นได้ถึงการตัดผลอ่อนออกไปจำนวนมาก ที่ไม่สามารถงอกได้ จนต้องเอาผลอ่อนนี้ไปเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้ออีกครั้ง และได้ต้นกล้าที่อ่อนแอมากมาจำนวนหนึ่ง ต่อมาได้นำกลับมาปลูกในแม่น้ำโขงในช่วงต้นปี 2566 นี้ 

ถึงแม้ว่าสัดส่วนระหว่างจำนวนต้นกล้าที่นำมาปลูก กับจำนวนพลับพลึงธารแม่น้ำโขงทั้งหมดที่สำรวจได้ขณะนี้ จะมีสัดส่วนน้อยมากก็ตาม แต่นี่เป็นจุดเริ่มต้นของ Genetic erosion ที่กรมประมงเป็นผู้ประทับรอยบาปทางนิเวศให้กับพลับพลึงธารแม่น้ำโขง น่าเสียดายที่กรมประมงไม่ฟังคำท้วงติงใด ๆ แม้กระทั่งผู้ใหญ่ในกรมประมงเอง ยังแสดงความห่วงใยไว้ว่า “กรมประมงไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องพืช ควรขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” 

ในธรรมชาตินั้น พลับพลึงธารแม่น้ำโขง เติบโตร่วมกันกับต้นไม้ พืช และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศแม่น้ำโขง ถึงแม้จะเป็นพืชเฉพาะถิ่นและหายากก็ตาม การรักษาฟื้นฟูถิ่นที่อยู่อาศัยในตามธรรมชาติ ให้ระบบนิเวศเดิมคงอยู่ให้มากที่สุด คือ ทางเลือกที่เคารพต่อธรรมชาติ เคารพการดำรงอยู่ของพลับพลึงธารแม่น้ำโขง โดยไม่เข้าไปรบกวนโครงสร้างทางพันธุกรรม 

กรมประมงและสถาบันทางวิชาการ ต้องทบทวนการนำพลับพลึงแม่น้ำโขงจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกลับไปปลูกในแหล่งธรรมชาติเดิม เนื่องจากเป็นกรณีเดียวกับการห้ามปล่อยปลาบึกและปลากัดเรืองแสงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ดังนั้นหากกรมประมงต้องการนำพลับพลึงธารน้ำโขงมาปลูกเพื่อรักษาพันธุกรรม ต้องกระทำภายใต้หลักการเดียวกัน ดังนี้ 

1. ปลูกในสถานที่ปิดตลอดอายุขัย ไม่นำไปปลูกในแม่น้ำโขงและลำน้ำสาขา

2. ไม่นำพลับพลึงธารตามธรรมชาติออกไปจากระบบนิเวศดั้งเดิมเพื่อการเพาะเนื้อเยื่ออีก

3. ไม่แจกจ่ายหรือสนับสนุนให้เกิดการขายต้นที่ได้จากการเพาะเนื้อเยื่อ เพื่อปิดช่องว่างและความต้องการในการลักลอบขุดจากแหล่งธรรมชาติเพื่อการค้า

อ่าน ชะตากรรมบนถาดเพาะเลี้ยงของพลับพลึงธารแม่น้ำโขง (ตอนที่ 1) ได้ที่นี่

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s