ธีระชัย ศาลเจริญกิจถาวร

เรียบเรียง

“กรมคุ้มครองสิทธิฯ เปิดตัวแผน NAP 2 – ด้านภาคประชาชนและทนายสิทธิแนะรัฐและเอกชนจัดตั้งกลไกผลักดันธุรกิจและสิทธิมนุษยชนตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งในและข้ามพรมแดน ย้ำอย่ามองประชาชนก่อความวุ่นวาย”

เมื่อวันที่ 8 ก.ย.2566 ณ The Portal Ballroom อิมแพ็ค เมืองทองธานี กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นเจ้าภาพในงานเปิดตัวและประกาศใช้ “แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)” มีผู้เข้าร่วมราว 400 คน ทั้งภาครัฐ องค์การมหาชน คณะทูตานุทูต ตัวแทนองค์การระหว่างประเทศ และภาคประชาสังคม

ประเทศไทยได้มีการนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) มาใช้ตั้งแต่ปี 2559 โดย UNGP มีหลักการสามเสาหลัก ได้แก่ คุ้มครอง เคารพ และเยียวยา ซึ่งที่ผ่านมาหลังจากที่ได้มีการรับหลักการดังกล่าวแล้วประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นทั้งอินไซต์และร่างโดยคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนแผน NAP

เมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติรับรองและประกาศใช้แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570) หรือ NAP2 ซึ่งจะเป็นการต่อยอดจากแผน NAP แรกและมีการสอดแทรกประเด็นร้อนในสถานการณ์โลกปัจจุบันเข้าไปมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงภาพภูมิอากาศ สถานการณ์ฝุ่น p.m. 2.5 และทางเลือกคาร์บอน

ธัญญาพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่าย Global compact ประเทศไทย กล่าวว่าภาคธุรกิจเองมีการขับเคลื่อนแผนไปพร้อมกับรัฐ เป็นการพัฒนาไปพร้อมกัน เช่น การขยายผลในส่วนขององค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน การตรวจสิบรอบด้าน เปิดเผยแนวทางในกรณีศึกษาต่าง ๆ แผน NAP เป็นเส้นทางที่นำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ของสหประชาติ หรือ UN โดยมีผู้คนเป็นศูนย์กลาง

ประเทศไทยตระหนักถึงการปกป้องสิทธิมนุษยชนเป็นหลักการพื้นฐาน ธุรกิจต้องเป็นธรรม ไทยเองให้ความสำคัญกับชื่อเสียงของไทยผ่านองค์กรธุรกิจ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีส่วนร่วมในการบรรเทาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ เคารพความเท่าเทียมทางเพศ รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสิทธิทางสิ่งแวดล้อมที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สุชาติ จันทรานาคราช รองสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่ไทยมีแผน NAP ที่มีต่อเนื่องเป็นระยะที่ 2 อันเกิดขึ้นจากการตระหนักของรัฐบาลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษชนจากการดำเนินธุรกิจ แผนนี้ยังเกิดจากการตระหนักและขับเคลื่อนของภาครัฐ ภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบกับสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ไทยยังเป็นประเทศแรกที่มีความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนแผน NAP ตามหลักการของ UNGP โดยมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นตัวขับเคลื่อนแผน ผ่านการรับหลักการจาก UN มาตั้งแต่ปี 2559

สุชาติกล่าวว่าทางสภาอุตสาหกรรมยินดีที่จะส่งเสริมและสนับสนุนหลักการ UNGP เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก้ผู้ประกอบการไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน สามารถสร้างแต้มต่อให้ภาคธุรกิจส่งออกที่ขณะนี้ให้ความสามารถต่อเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เชื่อว่าแผนนี้จะทำให้ไทยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในเวทีโลกและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เรโนลด์ มีเยร์ Resident Representative UNDP ประเทศไทย กล่าวว่าปัจจุบัน UNDP ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปและสถานทูตสวีเดนในฐานะตัวแทนของประเทศสวีเดนในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน และเป้าหมายการพัฒนา

ยินดีกับประเทศไทยที่เป็นประเทศแรกที่มี NAP และขณะนี้มีแผนสองแล้ว ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก

เรายินดีสนับสนุนประเทศไทยโดยเฉพาะการดำเนินการแผน NAP และพร้อมสนับสนุนให้ทุกแระเทศบรรลุเป้ากมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ดังนั้น ประเทศไทยโดยภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องทำให้แผน NAP เข้ากับบริบทในแต่ละท้องถิ่น แต่ละประเทศ และกระจายการดำเนินงานตามแผนเข้าไปในแต่ละท้องที่หรือภาคส่วนต่าง ๆ ในระดับท้องถิ่น

ในประเทศไทยมีสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยภาครัฐและภาคธุรกิจ เช่น การฟ้องปิดปากนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (SLAPP) ที่ออกมาปกป้องสิทธิของตัวของและพื้นที่ของตนเองเป็นจำนวนมากโดยภาคธุรกิจ จึงอยากผลักดันให้ไทยต้องทำงานกับผู้มีส่วนได้เสียในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น

เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา UN ได้รับรองสิทธิทางสิ่งแวดล้อมเป็นสิทธิมนุษยชนแบบหนึ่ง หากภาคธุรกิจก่อมลพิษทางสิ่งแวดล้อมก็จะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

เรืองศักดิ์ สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่ากรมคุ้มครองได้ระบมอบหมายจากทางคณะรัฐมนตรีในการร่างและขับเคลื่อนแผนตั้งแต่มกราคม ปี 2560 จนนำมาสู่การจัดทำและขับเคลื่อนแผน NAP ระยะที่ 1 และล่าสุด เมื่อวันที่ 25 ก.ค. คณะรัฐมนตรีได้มีการรับทราบแผนและมีดำริให้นำแผน NAP 2 ไปใช้

พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ใหม่แกะกล่องจากรัฐบาลผสม ‘ครม. เศรษฐา 1’ กล่าวว่าตนมีความยินดีที่ได้รับเกียรติเป็นประธานในการเปิดตัวแผน NAP ระยะที่ 2 ในวันนี้ พร้อมกล่าวว่าสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง หากสังคมใดละเลยซึ่งหลักสิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมจะนำมาซึ่งความไม่สมดุลและขัดแย้งกับทั้งประชาชนและผู้นำในสังคม

ความสำคัญระหว่างธุรกิจและสิทธิมนุษยชนที่มีความสมดุลนั้น ไทยถือเป็นประเทศที่มีความกล้าหาญในการนำทั้งสองเรื่องมาเป็นแผนเฉพาะ ปัจจุบันมี 26 ประเทศที่เอาเรื่องมาเป็นแผนเฉพาะ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของประเทศ ส่วนตัวมองว่าต้องมีการขับเคลื่อนต่อเกี่ยวกับแผน NAP นั้นที่ในเนื้อหามี 4 ประเด็น ที่เป็นเรื่องท้าทายและมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ด้านแรงงาน มองว่าเป็นการส่งเสริมการพัฒนาประเทศโดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขความเหลื่อมล้ำและปัญหาแรงงานที่ยังต้องมีการพัฒนาในหลายด้าน

ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันยังมีปัญกาการกระจุกตัวของที่ดิน มีการเรียกน้องให้มีการปฏิรูปทั้งด้านที่ดินและสิ่งแสดล้อม ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมถูกยกให้เป็นสิทธิมนุษยชน UNBR ได้มีการกำหนดมาตรการตรวจสอบสินค้าที่จะนำออกไปขายในต่างประเทศว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ยกตัวอย่าง สินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ซึ่งไทยส่งออกมากสุดในโลก เราไม่มีทางรู้แน่ชัดว่ายางที่ส่งออกไปนั้นมาจากพื้นที่ใด ที่ดินรัฐที่เป็นพื้นที่สงวนหรือไม่ และเอามาจากการละเมิดหรือไม่ ทางสากลจะมีการตรวจสอบว่าสินค้านั้นมีการทำลายสิ่งแวดล้อมและมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ อย่างไร ไทยยังคงประสบปัญหาเรื่องการตีความทรัพยากรอย่างป่าอยู่มากในกฎหมายกลายฉบับ กล่าวคือกฎหมายไทยและกฎหมายในระดับสากลนั้นยังคงมีความแตกต่างกัน ซึ่งถือเป็นข้อท้าทายในการขับเคลื่อน

ด้านการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ถือเป็นเรื่องดีที่ภายในแผนได้มีการบรรจุเรื่องนี้เอาไว้ สอดรับกับสภาชุดที่แล้วที่ได้มีการผลักดันกฎหมายด้านการซ้อมทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี

ในด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้าใชาติ ได้กล่าวถึงการรักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะมีนักลงจากต่างชาติเข้ามาลงทุนเป็นจำนวนมากในประเทศในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการลงทุนข้ามแดนที่รัฐต้องเข้าไปส่งเสริมการดำเนินการที่เคารพสิทธิมนุษยชนและสร้างการคุ้มครองสิทธิให้กับประชาชนในบริเวณดีงกล่าวด้วย

ทวีกล่าวชื่นชมกระบวนการจัดทำแผน NAP2 พร้อมกล้าวว่าแผนนี้ได้รับการรองรับมติ ครม. ซึ่งแม้ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นกฎหมายที่เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องปฏิบัติตาม คนอยากให้แผนนี้ได้เกิดผลใรการปฏิบัติเพื่อนำประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน กบไกในการปฏิบัติตามแผนนี้จะมีอนุกรรมการขับเคลื่อนแผนซึ่งอยู่ในกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ

การติดตามแผน NAP2 นับเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะคนที่ทำธุรกิจก็จะเน้นเรื่องผลกำไรเป็นหลัก ขอให้ผู้เชี่ยวชาญและมีความเป็นกลางมาช่วยติดตามผล ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีและน่าชื่นชม ขอบคุณผู้จัดทำแผน NAP2 ทุกท่าน กวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกภาคส่วนจะช่วยกันขับเคลื่อนเพื่อนบรรลุวัตถุประสงค์

การยกระดับสิทธิมนุษยชนในภาคธุรกิจ เพื่อมุ่งสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

พิชามญชุ์ เอี่ยวพานทอง ตัวแทนคณะทำงานแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน UNWG on BHR กล่าวว่าการมีแผน NAP นั้นเป็นสิ่งสำคัญ แต่การการนำ NAP ไปปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า บริษัทใหญ่มุ่งเน้นไปที่การลดความเสี่ยงมากดว่ากาีการแก้ไจและการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน แม้จะมีความพยายามในการทำการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence: HRDD) แต่ก็ต้องมีการปรับตัวไปตามบริบทต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ตนอบากให้การดำเนินงานตามแผน NAP2 เน้นความสำคัญขององค์กรภาคประชาสังคม ประชาขา และนักปกป้องสิทธิ รัฐและเอกชนต้องมองพวกเขาเป็นผู้ร่วมพัฒนาและขับเคลื่อนแผน NAP

หนึ่งในประเด็นที่มีรายงานเข้ามาบ่อยมากคือขั้นตอนการประเมินทางสิ่งแวดล้อม EIA ในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ทั้งเหมืองและพลังงาน ซึ่งสอดคล้องกับการตรวจสอบของ กสม. โดยเฉพาะประเด็นด้านชุมชน ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม

NAP มีการตั้งการประเมินผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ หรือ SEA จำเป็นต้องมีส่วนร่วมจากล่างขึ้นบน ท้ายที่สุดแล้วผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมไม่ควรแยกออกจากผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากนั้นแล้ว รัฐและบริษัทต้องมีการจัดตั้งกลไกการร้องเรียนสำหรับบุคคลและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ ต้องไม่มีการปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน ธุรกิจและสิทธิมนุษยชนต้องเติบโตไปด้วยการและจำเป็นต้องมีหลักการสิทธิมนุษยชนในการดำเนินธุรกิจ

การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยเพื่อรับมือกับการแข่งขันในตลาดโลก

ดร. เสรี นนทสูติ กรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม กล่าวว่าการพยายามผลักดัน NAP เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2560 จนมีแผน NAP ระยะที่หนึ่งและนำมาสู่แผน NAP ระยะที่สอง หาก NAP แรกเราเรียกว่า BHR 1.0 แล้ว NAP หรือ BHR 2.0 จะมีหน้าตาอย่างแรก ตอนนี้คำว่า ESG และ BHR เป็นเทรนด์ของโลกแล้ว และขณะนี้ธีมหลักของไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจในขณะนี้คือ BCG ซึ่งเป็นเป้าหมายหลัก

กรรมการของ UN ยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่าเท่าที่ติดตามความเคลื่อนไหวของบริษัทต่าง ๆ ในประเทศไทยพบว่าบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเองยังขาดทักษะใรการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะต้องสอดคล้องกับการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน

กลต. หรือ คณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ มีบาทบาทสำคัญอย่างมากในการออกประกาศหรือกำกับดูแลภาคธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์

ดร.เสรี ได้นำเสนอให้เห็น good practice ที่มีการรายงานในการจัดทำแผน ESG ผ่านการจัดทำแบบ 56-1 หรือ one-report ส่วนบริษัทบางจากได้มีการจัดทำ interested report และยังเป็นบริษัทองค์กรต้นแบบด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

“บริษัทต้องให้ความสำคัญกับสองเสาทั้งเรื่องการเคารพสิทธิมนุษยชน และการมีหน้าในการเยียวยาผลกระทบเมื่อธุรกิจเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ภาคธุรกิจต้องมีการทำรายงานการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (supply chain management) เกี่ยวกับเรื่องการค้ามนุษย์ หากมีการส่งออกสินค้าเข้าไปในยุโรปแล้ว” ดร. เสรี กล่าว

บทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ กับการขับเคลื่อนแผน NAP ระยะที่ 2: ความร่วมมือ ความท้าทาย และความคาดหวัง

นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่าแผน NAP เป็นองค์ประกอบสำคัญของการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน หรือ UNGP เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2554 โดยมีหลักการสามเสาหลักคือคุ้มครอง เคารพ เยียวยา เป็นนหน้าที่ร่วมกันะหว่างรัฐและธุรกิจ โดยหน้าที่คุ้มครองคือรัฐ และเคารพเป็นหน้าที่ของธุรกิจ และเยียวยาเป็นหน้าที่ทั้งสองฝ่าย

ไทยรับคำแนะนำจาก UN ว่าจะมีหารดำเนินการเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ตนนำมาสู่การรับหลักการและจัดทำแผน NAP 1 เป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีแผนออกมา ตั้งแต่ปี 2562-2565 โดยต่อมาเมื่อมีการจัดทำแผน 2 ก็ได้มีการจับมือกับหลายภาคส่วนใรการจัดทำจนรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 25 ก.ค.

แผน NAP ถือเป็นมาตรการบังคับกับรัฐและมีมาตรการสมัครใจสำหรับภาคธุรกิจ มีการกำหนดกิจกรรม ตัวชี้วัด และความเชื่อมโยงกับ UNGP และ SDG ในแต่ละเป้าหมายต่าง ๆ ซึ่งแบ่งตามประเด็น ได้แก่ แรงงาน สิ่งแวดล้อม นักป้องสิทธิและการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีทั้งเรื่อง FDI และ TDI โดยเฮพาะการทำธุรกิจนักลงทุนไทยในต่างประเทศที่มีผลกระทบข้ามพรมแดนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากและเป็นข้อท้าทาบสำคัญที่เห็นจากแผน NAP1 และยังไม่บรรลุเป้าหมาย

นอกจากนี้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพต้องร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสีย การศึกษาการบังคับใช้เป็นกฎหมาย และการเพิ่มแรงจูงใจเป็น incentives label

ปัญหาสำคัญในการขับเคลื่อนแผน NAP เท่าที่ผ่านมา เราพบว่าแต่ละหน่วยงาน แต่ละองค์กรภาครัฐ มีความเข้าใจเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐจึงต้องสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องของนโยบายในแต่ละหน่วยงานให้ทำงานร่วมกัน

ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างคือทรัพยากรและความพร้อมของภาคธุรกิจแต่ละขนาดในการผลักดันแผนนี้มีไม่เทา่กัน ภาครัฐโดยกรมคุ้มครองสิทธิฯ ต้องอาศัยความร่วมมืออย่างมาก เนื่องจากแผน NAP ไม่ได้เป็นกฎหมาย จึงไม่ได้มีสภาพบังคับ

จากการเป็นผู้นำในด้านการขับเคลื่อนหลักการ UNGP ประเทศเพื่อนบ้านให้ความสำคัญอย่างมากต่อไทยในการเป็นต้นแบยการพัฒนาและขับเคลื่อนแผน NAP และเริ่มมีการทยอยประกาศใช้แผน NAP แล้วในหลายประเทศในเอเชีย

วัชรพงษ์ วรรณตุง ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวว่าแผนNAP2 มีการกำหนดบทบาทของรัฐวิสาหกิจค่อนข้างมาก ทาง สคร. มีกลไกสองอย่างที่สำคัญคือการกำหนดบทบาทของรัฐวิสาหกิจ หรือ CG code ซึ่งแบ่งเป็นสามหมวด

หมวดแรก คณะกรรมการ กำหนดให้ฝ่ายบริหารดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย หมวดสอง ผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งลูกจ้าง พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และสิ่งแวดล้อม

หมวดสาม ความยั่งยืนและนวัตกรรม รัฐวิสาหกิจต้องมีการกำหนดแผนการดำเนินงานที่นำ SDG มาใช้ปัจจุบันมีการทำงานร่วมกับ OECD เพื่อให้ CG code เป็นสากลและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ก่อนหน้านี้ไม่มีการนำหลักแนวคิดเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนมาปรับใช้อย่างชัดเจน แต่ในภายหลังได้มีการนำเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือแผน NAP เข้ามาเกี่ยวข้อง รวมถึงเรื่อง BCG เข้าไปในการกำกับวัดผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจด้วย และมีความหวังว่าแผนการกำกับนี้จะช่วยให้รัฐวิสาหกิจมีการดำเนินงานที่ให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

ที่ผ่านมา ภาครัฐวิสาหกิจมีการตระหนักในเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน แต่แนวคิดนี้ยังกระจุกอยู่กับคณะผู้บริหารหรือฝ่ายนโยบาย ยังไม่ลงไปในระดับปฏิบัติทุกภาคส่วน ถือเป็นอีกข้อท้าทายหนึ่งที่รัฐวิสาหกิจจะต้องสร้างความรู้ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมในการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

นอกจากนั้นแล้ว การที่จะขับเคลื่อนแผน NAP เรื่องสิทธิมนุษยชน รวมถึงการนำหลักการหรือแนวคิดที่สำคัญอย่างเช่น SDG, ESG หรือ BCG เป็นต้น มาปรับใช้ในเรื่องของการดำเนินธุรกิจของตัวองค์กร ตัวรัฐวิสาหกิจของเราเอง เราเป็นธุรกิจของรัฐซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกภาคส่วน จริงๆ รัฐวิสาหกิจสามารถนำหลักการหรือแนวคิดเหล่านี้มาปรับกับตัวภารกิจของตัวเอง แล้วส่งต่อไปยังบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมด จะทำให้กับขับเคลื่อนในเรื่องนี้เกิดประสิทธิภาพ แล้วก็ขยายวงกว้างได้อย่างดีพอสมควร

ในส่วนการลงทุนในต่างประเทศ รัฐวิสาหกิจไม่ได้มีการลงทุนโดยตรง แต่เป็นการลงทุนโดยอ้อมผ่านบริษัทลูก ดังนั้น รัฐวิสาหกิจโดยบริษัทแม่จำเป็นต้องดูว่าบริษัทลูกจะรับนโยบายเรื่องสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ไปใช้ในระดับการดำเนินงานอย่างไร เพราะจากที่ได้มีโอกาสตรวจประเมินหลายๆ หน่วยงาน เราพบความท้าทายอีกอย่างก็คือการไปทำธุรกิจในต่างประเทศนั้น เรื่องสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศก็จะมีประเด็นปัญหาในการนำหลักการเหล่านี้ไปปรับใช้อยู่พอสมควร

ท้ายที่สุดนี้ รัฐวิสาหกิจต้องพัฒนากลไกกำกับดูแลต่อไป และมีการทบทวนทั้งระบบการประเมินและระบบการดำเนินการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งรัฐวิสาหกิจต้องมีการแบ่งปันข้อมูลและองค์ความรู้เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนระหว่างองค์กรหรือหน่วยงานทั้งในระดับบริหารและระดับปฏิบัติงานทั้งภายในและภายนอกองค์กร

วินิตา กุลตังวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมความยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า กลต. ต้องดูเรื่องแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนตลาดทุน แผน กลต. ระหว่างประเทศ SDG และแผน NAP จนนำไปสู่การวางดรอบการกำกับและการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ

“เราต้องการให้ผู้ประกอบการทำธุรกิจที่ดีต่อทุกฝ่าย ผ่านการพัฒนาระบบนิเวศ ต้องมีการประเมินการทำธุรกิจและการจัดการความเสี่ยง ทั้งภายในธุรกิจและภานอกธุรกิจเพราะกลักเลี่ยงไม่ได้ที่การทำธุรกิจของเราจะต้องกระทบทั้งภายในบริษัทและภายนอกบริษัท” ผอ. ฝ่ายส่งความยั่งยืน ของ กลต. กล่าว

วินิตากล่าวเพิ่มเติมว่า One-report เป็นเพียงจุดหมายปลายทาง เราต้องการให้ธุรกิจดำเนินการได้จริงสนับสนุนแผน NAP ให้เป็นจริงมากกว่า

นอกจากนี้เราต้องมี local reviewer เพื่อป้องกันไม่ให้บริษัทหรือธุรกิจเกิดการดำเนินการที่เรียกว่าการฟอกเขียว หรือ green washing

ใน One-report ไม่ได้ต่างจากการทำรายงานประจำปีแบบเดิม แต่เป็นการเพิ่มเรื่องความยั่งยืน และเรื่องสังคมเข้าไป หลังจากมีการกำหนดให้ทำเมื่อปี 2565 ผ่านไปหนึ่งปี บริษัทเปิดเผยเรื่องนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน กว่าร้อยละ 90 แต่กลับไม่ได้มีการเขียนเขื่อมโยงให้เข้ากับหลักการและกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องมากนัก

ในส่วนของผลิตภัณฑ์ กลต. สนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีการเปิดหุ้นกู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสิทธิมนุษยชน

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าวเริ่มด้วยการแสดงความยินดีที่ไทยมีแผนสองออกมาแล้ว ในฐานะที่เป็นคนทำงานภาคประชาสังคมเราอยากเห็นพัฒนาการการคุ้มครองสิทธิ ประเด็นทั้งสี่ยังต้องมีการพัฒนา ยังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกด้าน แต่ระหว่างทางมีพัฒนาการที่ดีในบางเรื่อง เช่น ในประเด็นข้ามพรมแดน เราเห็นว่าผู้ได้รับผลกระทบจากประเทศกัมพูชาเข้ามาฟ้องศาลในไทย ศาลมีคำพิพากษาที่ดีต่อนักปกป้องสิทธิในคดี SLAPP

“เราพูดกันมากว่ามีการแก้ไขกฎหมาย SLAPP แต่เราพบว่าไม่มีการนำมาใช้ได้จริง กฎหมาย Anti-SLAPP มาตรา 161/1 (กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริง ไม่มีคดีไหนที่มีคำสั่งตามมาตรา 161/1 และ 165/2 เลยแม้แต่คดีเดียว ส่วนตัวมองว่าต้องไปแก้กฎหมายไต่สวนมูลฟ้อง เพราะหากเข้าองค์ประกอบความผิด อย่างไรก็ไม่รับฟ้องไม่ได้ และอาจจะต้องมีกฎหมายเฉพาะในเรื่องการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ โดยเฉพาะในคดี SLAPP” ทนายสิทธิ เสนอ

ในประเด็นสิ่งแวดล้อม เรายังพบว่าการให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นยังมีปัญหาอยู่ ไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และไม่ได้มีการนำการตัดสินใจของประชาชนมาประกอบการตัดสินใจด้วยว่าโครงการนั้น ๆ จะเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างไร เราพบว่าไม่มีการเปิดเผยรายงานการรับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นสาธารณะ ปัจจุบันรัฐกำลังจัดทำกฎหมายเรื่องการรับฟังความคิดเห็น แต่ประชาชนยังไม่มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายดังกล่าว

ขณะนี้มีความพยายามผลักดันเรื่องแลนบริดจ์ ซึ่งมีการประกาศรับฟังความคิดเห็นในเวที ค.2 ซึ่งชาวบ้านไม่ทราบเลยว่าทำไม ค.1 หายไปไหน

ในประเด็นการลงทุนข้ามพรมแดน เราเห็นว่ามีประเด็นสำคัญเรื่องเขื่อนแม่น้ำโขง รัฐต้องคุ้มครองสิทธิประชาชนในการเข้าถึงการใช้ประโยชน์ ปนะชาชนได้รับผลกระทบอย่างมาก หรือแม้กระทั่งเรื่องฝุ่นที่มีที่มาจากการลงทุนของนักลงทุนไทยในอุตสาหกรรมการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งบางบริษัทที่นำอ้อยเข้ามาขายนั้นอาจไม่ได้อยู่ในกำกับของ กลต. และไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ

กฎหมายไทยไม่มีเรื่องของบริษัทในเครือ เพราะกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีการแยกความเป็นนิติบุคคลกันระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก ดังนั้นความรับผิดและการกำกับจึงเป็นไปอย่างจำกัด ดังนั้นในอนาคตจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับบริษัทในเครือขึ้นมาต่างหาก

นอกจากนี้มาตรฐานการคุ้มครองแรงงานยังไม่เท่าเทียมกันใน supply chain โดยเฉพาะ มีความแตกต่างกันระหว่างบริษัทขนาดใหญ่กับบริษัทขนาดเล็กที่มีลักษณะเป็น outsource

เราจะยังคงดำเนินงานติดตามประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งทางองค์กรของตนและคณะทำงานติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน ใรการจัดงานติดตามและประเมินผลการดำเนินงานผลักดันแผน NAP ในทุก ๆ ปี

สุดท้ายนี้เราอยากให้ภาครัฐและภาคธุรกิจเข้าใจว่าผู้ได้รับผลกระทบไม่ใช่ผู้ก่อความวุ่นวาย แต่เป็นผู้ที่จะทำให้การดำเนินธุรกิจของบริษัทเป็นไปด้วยหลักการธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

นอกจากนั้นแล้วภาคกระบวนการยุติธรรมต้องมีความเข้าใจและรำไปใช้ได้ด้วย พอมีความไม่เข้าใจเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมก็จะเกิดปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาและชดเชยต่อผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการที่รัฐอ้างว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ดังนั้นแน่นอนว่าต้องมีเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย

ส่วนเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม อย่าง CSR ปัจจุบันภาคประชาชนไม่ได้ใช้คำนี้กันแล้วเพราะถูกนำมาใช้ในทางที่ผิดอย่างมาก เราจึงไม่ใช่คำนี้กันแล้ว

ทนายสิทธิกล่าวทิ้งท้ายว่าอยากฝากไปยังภาครัฐว่ารัฐต้องทำให้ประชาขนไม่ถูกจำกัดสิทธิในการเรียกร้องของตนเอง

Leave a comment