ETOs Watch, ERI และเครือข่ายแม่น้ำโขง ร้อง กสม 2 กรณี เร่งตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโครงการโรงไฟฟ้าหงสา – เขื่อนสานะคาม

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน เวลา 13.00 น. คณะทำงานติดตามความรับผิดชอบของการลงทุนข้ามพรมแดน หรือ ETOs Watch Coalition เครือข่ายประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง และ Project SEVANA Souteast Asia ได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเพื่อยื่นจดหมายร้องเรียนต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งมีคุณศยามล ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชน เป็นตัวแทนรับเรื่อง โดยทางเครือข่ายได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กสม. ใน 2 กรณี ได้แก่ 1) โครงการโรงไฟฟ้าหงสา และ 2) โครงการเขื่อนสานะคาม ทั้งนี้ทางเครือข่ายมีจุดประสงค์เพื่อให้ทาง กสม. ดำเนินการตรวจสอบผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ที่เกิดขึ้นแล้วและอาจเกิดขึ้นจากการลงทุนข้ามพรมแดนที่มีนักลงทุนหรือภาคธุรกิจไทยเป็นผู้ลงทุนหรือผู้พัฒนาโครงการ

ในกรณีโครงการเขื่อนสานะคาม ตัวแทนผู้ยื่นหนังสือร้องเรียนได้แสดงความกังวลที่จะเกิดขึ้นในมิติต่าง ๆ ให้ทาง กสม. ได้ทราบ เนื่องจากหวั่นผลกระทบที่จะเกิดซ้ำและรุนแรงอย่างขึ้นต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนที่จะเกิดขึ้น

ชาญณรงค์ วงศ์ลา กลุ่มรักษ์เชียงคาน กล่าวว่า โครงการเขื่อนสานะคามจะตั้งอยู่แทบจะประชิดพรมแดนไทย ห่างออกไปไม่เกิน 2 กิโลเมตร จากเชียงคานบริเวณสกายวอล์กซึ่งเป็นจุดชมวิวและเป็นแหล่งท่องเที่ยวของพื้นที่สามารถมองเห็นตัวเขื่อนจากบริเวณนี้ได้ด้วยตาเปล่า แสดงให้เห็นว่าแม้จะอยู่ในพรมแดนลาว แต่เมื่ออยู่บนแม่น้ำสายเดียวกัน ย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งระบบนิเวศและการทำมาหากินของประชาชนไทยริมน้ำโขงโดยเฉพาะที่เชียงคานและปากชมอย่างชัดเจนซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใกล้เขื่อนสานะคามมากที่สุด ซึ่งนี่เป็นความกังวลของคนในพื้นที่อย่างมาก โดยในช่วงเช้าของวันนี้ทางเครือข่ายได้ไปติดตามเรื่องการตรวจสอบเขื่อนสานะคามที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินมาแล้ว เพราะเมื่อปีที่แล้วทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีการดำเนินตรวจสอบโดยหยิบยกขึ้นมาเป็นเรื่องที่ตรวจสอบเองแต่ขณะนี้รายงานการตรวจสอบยังไม่เสร็จสิ้น เนื่องจากมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนสานะคามยังให้ข้อมูลไม่ครบถ้วน

ชัยวัฒน์ พาระคุณ สมาคมองค์กรชุมชนแม่น้ำโขงหนองคาย กล่าวเสริมว่าผลกระทบต่อระบบนิเวศในแม่น้ำโขงที่เกิดขึ้นนั้นเริ่มมีเค้าลางตั้งแต่มีการสร้างเขื่อนจิงฮงในจีนซึ่งนั่นเป็นเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนบน ซึ่งแม้จะอยู่ไกลแต่ผลกระทบก็เริ่มเห็นแล้วแต่ยังไม่ชัดเจนนัก แต่หลังจากที่มีการสร้างและผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ผลกระทบเห็นได้ชัดเจนอย่างมาก ระบบนิเวศและระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ส่อคชัดเจนถึงการล่มสลายของสภาพแวดล้อมในแม่น้ำโขง และไม่ใช่เพียงเท่านั้นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของแม่น้ำโขงนั้นยังส่งผลกระทบต่อมิติอื่น ๆ ด้วย ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของผู้คนตลอดลำน้ำ หากจะยกตัวอย่างให้ชัดในพื้นที่หนองคาย ได้รับผลกระทบอย่างมากในส่วนของการท่องเที่ยว ก่อนหน้านี้หนองคายได้รับสมญานามว่าเป็นดินแดน “พันโขดแสนไคร้” แต่ทุกวันนี้ต้นไคร้ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้สำคัญบนแม่น้ำโขงก็ยืนต้นตายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากระดับน้ำโขงขึ้นลผิดปกติ แม้ทุกวันนี้เราจะพยายามทำเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาขึ้นแต่ก็มีความท้าทายอย่างมากว่าปลาอาจจะไม่มาอยู่กินหรือวางไข่หรือขยายพันธุ์หากมีเขื่อนสานะคามเพิ่มขึ้นมา

อำนาจ ไตรจักร ตัวแทนเครือข่าองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขงจากจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขงนั้นเป็นภาวะปัญหาเก่ายังไม่ได้แก้ ปัญหาใหม่กำลังจะมา เพราะคนริมโขงเห็นชัดเจนว่าระบบนิเวศและระดับน้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างมาก รวมถึงมีปัญหาเรื่องสันดอนทรายและตลิ่งที่พังลงมาอย่างต่อเนื่องและรุนแรงนับตั้งแต่มีการสร้างและเปิดใช้งานเขื่อนไซยะบุรี ประชาชนชนริมโชงและเครือข่ายภาคประชาสังคมต่าง ๆ ได้ร่วมกันทำงานเก็บข้อมูลและทำวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเขื่อนไซยะบุรีตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา เราพิสูจน์ได้ว่าผลกระทบจากเขื่อนส่งผลในหลายมิติ ดังนั้นเราจึงมีความกังวลอย่างมากว่าเขื่อนสานะคามจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เดิม ที่ผ่ามนก็พิสูจน์แล้วว่าภาครัฐไม่เคยจะเยียวยาอะไรให้กับประชาชนริมโขง

มนตรี จันทวงศ์ กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขงและสมาชิก ETOs Watch Coalition ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เขื่อนสานะคามจะสร้างผลกระทบรายวันหรือในรอบ 24 ชั่วโมงต่อระดับน้ำโขงโดยเฉพาะในพื้นที่เขื่อนที่อำเชียงคาน จังหวัดเลย ถึง 3.5 เมตร ต่อมาเมื่อคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ได้ปรับเกณฑ์ในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำโขงใหม่ ผลที่ได้คือ ระดับน้ำโขงที่อำเภอเชียงคานจะยังคงเปลี่ยนแปลง โดยมีระดับการเปลี่ยนแปลงสูงสุดตั้งแต่ 12.9 ซม. – 1.34 ซม. ภายใน 1 ชั่วโมง อีกทั้งน้ำจากเขื่อนสานะคามจะเดินทางถึงอำเภอเชียงคานภายใน 2 ชั่วโมงเท่านั้น นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก

อนึ่ง โครงการเขื่อนสานะคาม เป็นหนึ่งในโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขงสายหลักตอนล่างลำดับที่ 5 ซึ่งตั้งอยู่บนแม่น้ำโขงเหนือ อ. เชียงคาน จ. เลย ประมาณ 2 กิโลเมตรเท่านั้น เขื่อนสานะคามจะมีการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 684 เมกะวัตต์ โดยมีผู้พัฒนาโครงการคือบริษัท ต้าถัง (ลาว) สานะคาม ไฮโดรเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งมีผู้ถือหุ้นหลักและดำเนินโครงการคือบริษัทสัญชาติจีนไชน่า ต้าถัง อินเวสเมนท์ จำกัด (China Datang Oversea Investment Co., Ltd.) มีเป้าหมายส่งขายผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศไทย ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าจะมีบริษัทพลังงานไทยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นด้วย แต่ยังไม่มีความชัดเจน

วรวรรณ ศุกระฤกษ์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ภูมิภาคแม่น้ำโขงของ Earth Rights International และเป็นหนึ่งในสมาชิก ETOs Watch Coalition ได้ให้ข้อมูลพื้นฐานและชี้ให้เห็นถึงหลักฐานผลกระทบทางสุขภาพข้ามพรมแดนจากโครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินหงสาว่าทางองค์กรได้ทำงานติดตามผลกระทบและการดำเนินงานของโรงไฟฟ้ามาอย่างยาวนาน โดยกล่าวว่าโครงการนี้ตั้งอยู่ในเมืองเงิน แขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 15 กม. โครงการนี้ประกอบด้วยประกอบด้วยโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินลิกไนต์ขนาด 1,878 เมกะวัตต์ และโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน ได้แก่ สายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าย่อยหงสา ราคาประมาณ 3.71 พันล้านเหรียญสหรัฐ โครงการนี้มีบริษัทไทยเข้าลงทุนเป็นผู้ดำเนินโครงการหลักซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง บมจ. บ้านปู เพาเวอร์ (40%), บมจ. ผลิตไฟฟ้า ราชบุรี โฮลดิ้ง (40%) และรัฐวิสาหกิจลาวโฮลดิ้ง (20%) โดยมีธนาคารไทย 9 แห่ง เป็นผู้ให้เงินกู้ในการดำเนินโครงการ ซึ่งนับเป็นโครงการความร่วมมือด้านพลังงานที่ใหญ่ที่สุดระหว่างลาวและไทย

โครงการนี้มีความเสี่ยงที่จะปล่อยโลหะหนักลงสู่แหล่งน้ำในท้องถิ่นและสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ที่ชุมชนท้องถิ่นใช้เป็นแหล่งอาหารและการดำรงชีวิต โครงการนี้ยังมีผลกระทบข้ามพรมแดนที่สำคัญอีกด้วย การทำเหมืองถ่านหินเช่นกรณีโครงการหงสานั้นได้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนเนื่องจากสูญเสียสภาพแวดล้อมที่ดีและส่งผลต่อสุขภาพของสังคม

“เรามีข้อกังวลหลักด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องกับการใช้ถ่านหินในโรงไฟฟ้าแห่งนี้และการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า ซึ่งจะนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายด้าน เช่น สิทธิการอาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด ดีต่อสุขภาพและยั่งยืน ชีวิต และสุขภาพ ที่ประเทศไทยได้ลงมติสนับสนุนมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเป็นการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่สะอาดและดีต่อสุขภาพ มีโอกาสที่จะรับประกันว่ารัฐยอมรับสิทธินี้ในบริบทของมลพิษข้ามพรมแดน นอกจากนี้การดำเนินงานของโรงไฟฟ้าฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่กระจายและปนเปื้อนของสารปรอทลงในแหล่งน้ำฝั่งประเทศไทยอีกด้วย” เธอกล่าว

วรวรรณกล่าวถึงการทำงานวิจัยของ Earth Rights International ว่าได้ดำเนินงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อติดตามโครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินหงสา และการลงทุนขนาดใหญ่อื่นๆ ของไทยในภูมิภาค โดยการศึกษาวิจัยครอบคลุม 456 ครัวเรือน มีประชากร 1,767 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ  ERI ร่วมกับทีมงานมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินการวิเคราะห์กฎหมายในลาวและไทยเกี่ยวกับมลพิษข้ามแดนและการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชนต่อกรณีโครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินหงสา เสนอให้มีระบบการตรวจสอบโดยชุมชนในพื้นที่น่านเพื่อติดตามผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินหงสา ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษข้ามแดน สิ่งนี้ไม่ควรรอจนกว่าชุมชนจะเจ็บป่วยถึงจะเริ่มพยายามหาทางออก

เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ภูมิภาคแม่น้ำโขงยังได้อ้างถึงงานวิจัยและหลักฐานเชิงวิชาการว่าการศึกษาวิจัยที่จัดทำโดย ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์ มหาวิทยาลัย นเรศวร ในปี 2562 (จัดทำโดย ERI) โดยใช้แบบจำลองการกระจายตัวของบรรยากาศ (Atmospheric Dispersion Model: AERMOD) เพื่อทำนายการเคลื่อนย้ายและการสะสมของสารปรอทในระบบนิเวศ ระหว่างปี 2558, 2561-2562 ด้วยการเก็บตัวอย่างอากาศ ดิน และเนื้อเยื่อปลาผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ผลการศึกษาพบว่ามีความเข้มข้นของสารปรอทในบรรยากาศสูงในฝุ่นละอองที่เก็บรวบรวมในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งบ่งชี้ว่าฝุ่นละอองดังกล่าวถูกปล่อยออกจากแหล่งกำเนิดที่มีสารปรอทสูง เช่น การเผาถ่านหินแทนการเผาเศษพืชผล การสะสมของสารปรอทอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการลดลงของ IQ และระบบประสาท ความเข้มข้นของสารปรอทในสภาพแวดล้อมที่น้ำรีและห้วยโก๋น ในปี 2558 สูงกว่าสภาวะที่ไม่มีการบำบัดถึงสิบเท่าและร้อยเท่า นอกจากนั้นแล้วมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายอื่น ๆ ที่ปล่อยออกมาจากโรงไฟฟ้า ซึ่งรวมถึงสารหนู โครเมียม นิกเกิล แคดเมียม ไดออกซิน สารประกอบตะกั่ว กรดไฮโดรคลอริก และไฮโดรเจนฟลูออไรด์ ยังสามารถก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพอีกมากมาย รวมถึงความเสียหายของระบบประสาทส่วนกลาง และโรคมะเร็ง ดังที่แสดงในแผนที่ความเสี่ยงด้านมลพิษที่สร้างขึ้นโดยแบบจำลอง AERMOD มี 7 หมู่บ้านที่เสี่ยงเผชิญกับมลพิษข้ามพรมแดน ซึ่งเกิดจากโรง ไฟฟ้าถ่านหินหงสา มีบ้านงอมเป้า บ้านด่าน บ้านห้วยโคน บ้านเคี้ยวจาน บ้านน้ำช้าง บ้านน้ำรี บ้านห้วยโก๋น และบ้านห้วยทรายแก้ว

ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยดังกล่าวของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนเรศวรยังพบความเข้มข้นของ PM 2.5, PM 10, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และไนโตรเจนไดออกไซด์ในบรรยากาศโดยรอบหมู่บ้านในอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มลพิษต่าง ๆ เหล่านี้มีผลต่อสุขภาพอย่างมากโดยมีความเชื่อมโยงต่อการเกิดโรคหีวใจ ฟลอดเลือด และทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด

ธนกฤต โต้งฟ้า  เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ของ Earth Rights International ที่ลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบในชุมชนน้ำรีพัฒนาและน้ำช้างพัฒนามาหลายครั้ง กล่าวเสริมว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ควรมองผลกระทบที่เกิดขึ้นแต่กับฝั่งไทยเท่านั้น โครงการโรงไฟฟ้าและเหมืองถ่านหินหงสาเป็นโครงการที่ตั้งอยู่ในประเทศลาว ดังนั้นแน่นอนว่า “คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงไปแล้วเป็นอันดับแรกคือประชาชนในประเทศลาวที่อยู่ในบริเวณและโดยรอบโครงการ แต่อาจจะไม่มีคนพูดถึงผลกระทบพวกเขาที่ได้รับเท่าที่ควร ทั้งนี้จึงต้องการเสนอให้ทาง กสม. ตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนประเทศลาว และควรมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สามารถช่วยเหลือชาวลาวที่ได้รับผลกระทบด้วย”

ย้อนกลับไปในกรรมการชุดที่สอง กสม. เคยได้รับการร้องเรียนให้มีการตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าหงสาในส่วนสายส่งกระแสไฟฟ้ามาแล้ว ชุมชนในจังหวัดน่านได้ยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับผลกระทบข้ามพรมแดนของโครงการและสายส่งไฟฟ้าต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา กสม. มีมติยุติเรื่องเพื่อตรวจสอบ นื่องจากทางผู้ร้องเรียนมีการฟ้องคดีความต่อศาล

ถึงกระนั้น กสม. ได้มีการจัดทำรายงานการตรวจสอบโครงการส่งไปยังคณะรัฐมนตรี โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติออกมาเมื่อเดือนมกราคม 2559 ซึ่งระบุว่าให้มีการกำกับดูแลการลงทุนของไทยในต่างประเทศโดยนำหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนมาใช้

ด้านศยามล ไกรยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กสม. จะรับทั้งสองเรื่องคือโครงการหงสาและโครงการเขื่อนสานะคามไว้เพื่อตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในมิติต่าง ๆ โดยเฉพาะในเรื่องสิ่งแวดล้อมและผลกระทบข้ามพรมแดน พร้อมกล่าวว่าทั้งสองโครงการมีความเชื่อมโยงและมีประเด็นร่วมกัน คือ เป็นโครงการด้านพลังงานที่ลงทุนโดยภาคเอกชนที่มีภาครัฐโดย กฟผ. เข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้รับซื้อไฟฟ้าทั้งสองโครงการ

หากพิจารณาตามความเร่งรีบในการตรวจสอบแล้ว คาดการณ์ว่าโครงการโรงไฟฟ้าหงสามีความรีบด่วนมากกว่าในแง่ผลกระทบเนื่องจากโครงการมีการดำเนินการมาหลายปีและอาจมีผลกระทบที่พิสูจน์ได้เกิดขึ้นแล้ว ส่วนโครงการเขื่อนสานะคาม แม้ยังไม่มีผลกระทบเกิดขึ้นจากตัวโครงการโดยตรงในเวลานี้ แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่มีมาก่อนหน้านี้ก็ทำให้เห็นถึงผลกระทบจนส่งผลมาถึงความกังวลของประชาชนริมโขงในทุกวันนี้

กรรมการสิทธิมนุษยชนด้านฐานทรัพยากร ชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของการขับเคลื่อนของสถาบันสิทธิมนุษยชนในประเทศต่าง ๆ ของอาเซียน โดยเฉพาะในส่วนของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights: AICHR) ที่กำลังให้การสนับสนุนการพัฒนาเครื่องมือหรือกลไกระดับภูมิภาคอาเซียนเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและผลกระทบข้ามพรมแดน โดยขณะนี้ในไทยเองมีกระบวนการภายในประเทศที่ กสม. ร่วมกับ AICHR และองค์กรภาคประชาสังคมร่วมกันสร้างดครือข่ายและผลักดันการสร้างกลไกดังกล่าว โดยอาศัยข้อตกลงและอนุสัญญาในภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก เช่น อนุสัญญา Escazu ของภูมิภาคละตินอเมริกาและข้อตกลง Aarhus ของภูมิภาคยุโรป มาเป็นต้นแบบในการถอดบทเรียนและเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนากรอบภายในภูมิภาคอาเซียนต่อไป

Leave a comment